Trending Now

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2018 เชื่อว่านักรักศิลปะคงคุ้นหูกับชื่อ Bangkok Art Biennale อย่างแน่นอน เพราะได้ชื่อว่าเป็นงานศิลปะระดับใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่จัดต่อเนื่องกันมาตั้งแต่ปี 2018 เหมือนที่กล่าวมา ซึ่งตอนแรกแผนแพลนของงานในครั้งนี้ตั้งใจที่จะจัดขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2020 แต่อย่างที่ทุกๆ คนทราบกันว่ามีเหตุการณ์ที่ทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักลงจนทำให้งานศิลปะกรุงเทพยักษ์ใหญ่อย่าง BAB ต้องถอยระยะเวลาในการจัดออกมาด้วย

ซึ่งตอนนี้ก็ได้คอนเฟิร์มวันจัดอย่างเป็นทางการแล้วคือตั้งแต่เดือนตุลาคมปีนี้ ลากยาวไปจนถึงมกราคมในปีหน้า ซึ่งบอกได้เลยว่าระยะเวลาของงานจัดยาวจุใจแบบอิ่มคุ้มเลยทีเดียว


Bangkok Art Biennale เทศกาลศิลปะที่ถูกเรียกว่าเป็นงานศิลปะสเกลใหญ่ที่สุดของกรุงเทพมหานครเลยก็ว่าได้ ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีศิลปินมากหน้าหลายตาที่ไม่ใช่แค่กรุงเทพ แต่มีศิลปินหลากหลายเชื้อชาติเข้ามาร่วมนำศิลปะต่างๆ แต่ละแขนงมาตั้งโชว์และทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

ซึ่งก็จะมีการจัดแสดงงานศิลปะตามจุดต่างๆ ทั่วกรุงเทพมหานครเลย ที่ปีนี้ก็หนีไม่พ้น BAB (Box One Bangkok), BACC (หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร), Lhong 1919, มิวเซียมสยาม, The Parq, The Prelude One Bangkok, วัดอรุณฯ, วัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิฯ) และวัดประยุรวงศาวาส จัดเต็มทั้งหมด 9 สถานที่เลยทีเดียว

นอกจากสถานที่จะอลังการจัดหนักจัดเต็มกันถึง 9 สถานที่แล้ว รายชื่อศิลปินที่รายทัพกันมาแสดงผลงานก็ไม่ใช่เล่นๆ เพราะมีมากถึง 82 ศิลปิน ซึ่งวันนี้เราจะพามารู้จักกันสักนิด แบบเรียกน้ำย่อยก่อนที่จะไปดูงานแสดงศิลปะของพวกเค้ากันในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้กัน

Pen-ek Ratanaruang
เป็นเอก รัตนเรือง

กรุงเทพฯ, ไทย

เป็นเอก รัตนเรือง เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยและนานาชาติ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปศาสตร์บัณฑิตจากสถาบันแพรตต์ ในบรูคลิน นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2540 เป็นเอกมีผลงานภาพยนตร์เป็นเรื่องแรกในฐานะผู้กำกับหนังไทยเรื่อง ฝัน บ้า คาราโอเกะ ที่สร้างความประหลาดใจและถือเป็นแนวทางนำเสนอที่แปลกใหม่เขย่าวงการภาพยนตร์ไทยในยุคนั้น

ตั้งแต่นั้นมาเขาได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้บุกเบิกคนสำคัญในยุคคลื่นลูกใหม่ของภาพยนตร์ไทยในช่วงปลายทศวรรษที่ 90 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ภาพยนตร์ของเขาได้รับการฉายในเทศกาลสำคัญๆ เช่น เบอร์ลิน คานส์ เวนิส และโตรอนโต หนังของเป็นเอกเดินทางไปออกฉายสู่สายตาผู้ชมทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2547 ได้รับยกย่องเป็นศิลปินศิลปาธร โดยกระทรวงวัฒนธรรมของไทย และในปี พ.ศ. 2555 ได้รับมอบเครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นอัศวินจากกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ปัจจุบันพำนักและทำงานอยู่ที่กรุงเทพ และ เชียงใหม่ ประเทศไทย

Tada Hengsapkul
ธาดา เฮงทรัพย์กุล

นครราชสีมา, ไทย

ธาดา เฮงทรัพย์กุล เป็นศิลปินร่วมสมัยระดับนานาชาติ กระบวนการสร้างศิลปะของเขาต้องการสืบค้นและต่อต้านการควบคุมในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระดับร่างกาย ชุมชน และสังคม ผลงานภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวของธาดาล้วนตั้งคำถามกับอิสรภาพ และตัวแทนกลไกของสังคมอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น การพูดถึงการมีอยู่ของทหารและค่ายทหารจำนวนมากในจังหวัดนครราชสีมาซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขา หรือการควบคุมร่างกายส่วนบุคคล ที่แม้ว่าจะเป็นเนื้อหาที่อ้างถึงประเทศไทยและประวัติศาสตร์ชาติอย่างเฉพาะเจาะจง ก็ยังพาดพิงถึงประเด็นที่เป็นสากล เช่น การเซ็นเซอร์ และการกดขี่ด้วย

ธาดามีพื้นเพมาจากจังหวัดโคราช ภาคอีสานของไทย ซึ่งเคยเป็นฐานทัพให้กับทหารอเมริกันในสมัยสงครามอินโดจีนครั้งที่ 2 และการที่ชุมชนในบริเวณดังกล่าวยังคงได้รับผลกระทบทั้งทางวัฒนธรรมและการเมืองจากประวัติศาสตร์นี้ ได้กลายเป็นที่มาและแรงบันดาลในการทำงานของธาดาอย่างต่อเนื่อง โดยศิลปินมักเชื่อมโยงกับเหตุการณ์หรือวิกฤตการณ์ทางการเมืองระดับภูมิภาคที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 และเชื่อมโยงกับสงครามเย็น กระบวนการปลดปล่อยอาณานิคม และทฤษฎีการทำให้ทันสมัย หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (modernization)

Ga Ram Kim
กา รัม คิม

โซล, เกาหลีใต้

กา รัม คิม สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในด้าน จิตรกรรมและภาพพิมพ์จาก Ewha Womans University (โซล, พ.ศ. 2554) และได้รับปริญญาโทจาก Chelsea College of Art and Design (ลอนดอน) กา รัม คิม ทำงานที่มีส่วนร่วมทางสังคมและโปรเจคศิลปะแบบข้ามแขนงที่มุ่งเน้นถึงการตั้งคำถามต่อประเด็นสำคัญระหว่างศีลธรรมกับความบันเทิง

กา รัม คิม ได้จัดแสดงผลงานในนิทรรศการเดี่ยว อาทิ ACS#2: the AGENDA hair salon 2016 Düsseldorf Project (Filmwerkstatt, พ.ศ. 2559) และร่วมในนิทรรศการ เช่น Chroniclers, Outside of Time (Museum of Contemporary Art Busan, 2562); Youth Before Age (Coreana Museum of Art, พ.ศ. 2562); Gwangju Media Art Festival (Asia Culture Center, พ.ศ. 2561); selfie-upload <2018 Random Access Project Vol.1> (Nam June Paik Art Center, พ.ศ. 2561) ผลงานของเธอเป็นส่วนหนึ่งในคอลเล็คชั่นของ Seoul Museum of Art and Museum of Contemporary Art Busan ปัจจุบัน กา รัม คิม อาศัยและทำงานอยู่ที่กรุงโซล เกาหลีใต้

Kubra Khademi
คูบรา คาเดมี่

คาบูล, ฝรั่งเศส-อัฟกานิสถาน

คูบรา คาเดมี่ ปัจจุบันพำนักอยู่ที่ปารีส เป็นศิลปินชาวอัฟกัน สาขาศิลปะการแสดงสดและเป็นนักเรียกร้องสิทธิสตรี คูบราใช้กระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะเพื่อสำรวจชีวิตตัวเธอเองในฐานะผู้ลี้ภัยและผู้หญิง เธอจบการศึกษาด้านศิลปกรรมจาก Kabul University และศึกษาต่อที่ Beaconhouse National University เมืองลาฮอร์ ปากีสถาน เธอเริ่มทำศิลปะการแสดงสดในพื้นที่สาธารณะที่ลาฮอร์ และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งย้ายกลับไปกรุงคาบูล ผลงานของคูบราวิพากษ์สังคมวัฒนธรรมที่ชายเป็นใหญ่และการเมืองหัวโบราณ ในปี พ.ศ. 2558 เธอถูกบังคับให้หนีออกนอกประเทศหลังจากที่แสดงผลงาน Armor

ปัจจุบันคูบราทำงานและพำนักอยู่ในปารีส ฝรั่งเศส ได้รับทุนการศึกษา MFA ที่ Pantheon Sorbonne University และได้รับอิสริยาภรณ์ระดับชั้นอัศวินจากกระทรวงวัฒนธรรมประเทศฝรั่งเศส สาขาศิลปะและวรรณกรรม ในปี พ.ศ. 2559 คูบราเป็นสมาชิกกลุ่ม « L’Atelier des Artistes en Exil » และเป็นศิลปินในพำนักที่ Cité internationale des arts และที่ Fondation Fiminco (พ.ศ. 2563)

Ho Rui An
โฮ รุย อัน

สิงคโปร์

ศิลปิน และ นักเขียน ผู้ที่ยืนอยู่บนจุดนัดพบของศิลปะร่วมสมัย ภาพยนตร์ ศิลปะการแสดงสด และ แนวคิดทฤษฏี โดยงานของเขาเน้นหาคำตอบเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่าง ภาพลักษณ์ และ อำนาจ โดยเจาะลึกลงไปว่าภาพลักษณ์เหล่านั้นถูกสร้างขึ้น แพร่กระจาย และ หายไป ได้อย่างไร ในบริบทของสภาพแวดล้อมของการปกครอง และ โลกที่กำลังก้าวสู้ยุคไร้พรมแดน นอกจากนี้เขาเป็นศิลปินที่ได้รับความสนใจในเวทีนานาชาติ ด้วยผลงานที่แฝงประเด็นต่างๆไว้อย่างแยบคาย ทำเกิดการเล่าเรื่องที่ซับซ้อนจากประวัติศาสตร์ และ เรื่องในท้องถิ่น ไปสู่วัฒนธรรมในรูปแบบของทัศนศิลป์ร่วมสมัย

การค้นคว้าของเขานั้น สำรวจถึงแรงกดทับ ในประเด็นการแบ่งแยกเชื้อชาติ และ วิกฤตที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดเสรีนิยมที่กำลังดำเนินอยู่ในโลกปัจจุบัน รุย อัน ได้นำเสนอผลงานของเขามาแล้วในหลายเวที อาทิ Asian Art Biennial (พ.ศ. 2562) Gwangju Biennale (พ.ศ. 2561) Jakarta Biennale (พ.ศ. 2560), Sharjah Biennial 13 (พ.ศ. 2560), Kochi-Muziris Biennale (พ.ศ. 2557), Centre A, Vancouver (พ.ศ. 2561), Van Abbemuseum, Eindhoven (พ.ศ. 2561), Haus de Kulturen der Welt, Berlin (พ.ศ. 2560), Jorge B. Vargas Museum and Filipiniana Research Center, Manila (พ.ศ. 2560), NTU Centre for Contemporary Art Singapore (พ.ศ. 2560) และ Para Site, Hong Kong (พ.ศ. 2558). โดนผลงานล่าสุด Student Bodies ได้รับรางวัล International Film Critics’ Prize (FIPRESCI Prize) ที่งานประกวด International Competition, 65th International Short Film Festival, Oberhausen (พ.ศ. 2562) โดยในปี พ.ศ. 2561 เขาได้เป็นศิลปินในโครงการ DAAD Berliner Künstlerprogramm ของประเทศเยอรมนี ปัจจุบัน โฮ รุย อัน อาศัยและทำงานอยู่ที่สิงคโปร์และ เบอร์ลิน

เราได้แนะนำศิลปิน 5 ท่านจากทั้งหมด 82 ศิลปินที่จะมารังสรรค์งานศิลปะที่กำลังจะเกิดขึ้นจาก BAB มาให้ได้รู้จักกันแบบชนิดเรียกน้ำย่อยกันก่อน และสำหรับใครที่สนใจและอยากจะรู้จักกับศิลปินให้มากยิ่งขึ้น ก็สามารถเข้าไปดูได้ใน https://www.bkkartbiennale.com/ ได้เลยยยยยยยย

พบกันได้ในเดือนตุลาคมปีนี้ ไม่ไกลเกินเอื้อมแล้วนะสำหรับผู้คนที่คลั่งไคล้ในงานศิลปะ เตรียมตัวไปเสพศิลปะแบบชิคๆ กัน~


ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย 

  • Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
  • Instagram: @Zipevent
  • Website: www.zipeventapp.com
  • Twitter: @Zipevent
  • Facebook: @Zipevent

ขอบคุณข้อมูลจาก BkkArtBiennale

Comments

comments

Author

Nothing really goes away