Trending Now

หอศิลป์ เปิดแล้วและเตรียมพบกับ นิทรรศการ ‘ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา’ โดย ท่านผู้หญิง สิริกิติยา เจนเซน ภัณฑารักษ์ นำภาพถ่ายในอดีตมาจัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๘ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ ๒๖ พฤษภาคมถึงวันที่ ๖ กันยายนนี้


นิทรรศการดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิส่งเสริมการถ่ายภาพ ร่วมกันจัดขึ้นเพื่อจัดแสดงภาพถ่ายฟิล์มกระจกที่สวยงามและเต็มไปด้วยเรื่องราวเชิงประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติได้คัดสรรมาเพื่อนิทรรศการในครั้งนี้

หอศิลป์

‘นิทรรศการฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา’ เน้นให้เห็นความเปลี่ยนแปลง เมื่อสยามค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการการประสมประสานทางวัฒนธรรมตะวันออกบรรจบตะวันตก นำผู้คนในปัจจุบันเดินทางย้อนเวลาไปในอดีต สัมผัสกับเหตุการณ์ต่างๆ รวมทั้งวิถีชีวิตของชาวสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถึง รัชกาลที่ ๗

ในการชมนิทรรศการครั้งนี้ ผู้ชมเสมือนหนึ่งได้ร่วมเดินทางไปในการเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พร้อมด้วยเหล่าพระบรมวงศานุวงศ์ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างสงบผ่อนคลายและเป็นส่วนพระองค์ แม้ในท้ายที่สุดการเสด็จประพาสต่างๆ จะจบลงด้วยเหตุการณ์ชวนสลด อันเป็นสัญญาณสะท้อนความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสยามในเวลานั้น

หอศิลป์

นิทรรศการฟิล์มกระจก: เรื่องราวเหนือกาลเวลา แบ่งออกเป็น ๔ ส่วน ได้แก่

ส่วนที่ ๑
ปฐมบรรพ การเสด็จประพาสหัวเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา วิถีชีวิตของชาวสยามเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การติดต่อสัมพันธ์กับชาวต่างชาติ ทำให้แนวคิดและวิถีแห่งกษัตริย์มีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สะท้อนให้เห็นชัดเจนจากพระปรมาภิไธยในรัชกาลที่ ๔ ซึ่งแสดงถึงพระคุณสมบัติและบุคลิกภาพเฉพาะพระองค์

กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ ๕ ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ ยิ่งเห็นชัดเจนมากขึ้น ด้วยพระองค์เสด็จประพาสหัวเมืองต่างๆ พร้อมเหล่าเจ้านายพระราชวงศ์ บ่อยครั้งเป็นการ “เสด็จประพาสต้น” คือเสด็จพระราชดำเนินส่วนพระองค์โดยมิให้ใครรู้จัก เพื่อจะได้ทรงใกล้ชิดและทราบทุกข์สุขที่แท้จริงของชาวบ้าน อาทิ เกาะสีชัง ที่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงและบรรดาเจ้านายผู้โดยเสด็จ ประทับทรงพระเกษมสำราญท่ามกลางแสงแดดและอายทะเล หรือที่เมืองกำแพงเพชร ซึ่งได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรแหล่งโบราณคดีหลายแห่ง รวมทั้งโปรดให้จัดการแสดงละครโดยให้เจ้านายรับบทบาทต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปีที่เสด็จประพาสต้นทั้งสองครั้ง และเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ ๒ อันเป็นช่วงปลายรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงประสบกับความโทมนัสแสนสาหัส ด้วยทรงสูญเสียพระราชโอรสและพระราชธิดาหลายพระองค์ ทรงพระวิปโยคอาดูรถึงกับออกพระโอษฐ์ว่า

“… จะทนอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ไหวด้วยรู้สึกไม่สบายมาก จึงจะออกไปอยู่เพชร สบายจึงจะกลับ…”

ความพลัดพรากอันไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ราวกับเป็นสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่กำลังจะมาถึงในไม่ช้า

ส่วนที่ ๒
ทุติยบรรพ สยามอันสุขสงบในรอยต่อของกาลเวลา

ภาพถ่ายบรรยากาศแห่งความสุขสงบเรียบง่ายเมื่อได้เห็นภาพวิถีชีวิตของผู้คนในกรุงเทพฯ ที่ดำเนินไปตามครรลองอย่างเนิบช้า ภาพของเด็กๆ ที่เล่นกันอย่างสนุกสนาน ภาพของพระภิกษุในวัดวาอารามซึ่งสร้างขึ้นในปลายสมัยอยุธยาถึงต้นรัตนโกสินทร์ รวมทั้งกิจวัตรประจำวันของผู้คนที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วิถีชีวิตอันแสนธรรมดาสามัญเหล่านี้เปรียบเสมือนช่วงพักครึ่งเวลาระหว่างการแสดง ช่วงเวลาที่สงบนิ่งดังผิวน้ำเรียบยามไร้ลมพัด รอเวลาที่ความเปลี่ยนแปลงในจะเยื้องกรายเข้ามาแสดงบทบาทในสยามประเทศ

ส่วนที่ ๓
ตติยบรรพ ตะวันออกบรรจบตะวันตก

เป็นการนำเสนอภาพชาวตะวันตก มีบทบาทต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวสยามมากขึ้น สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงโปรดเกล้าฯ ให้ชาวยุโรปที่มีความรู้ความสามารถหลายคน เช่น สถาปนิกและศิลปินชาวอิตาเลียน ทำงานร่วมกับช่างฝีมือชาวสยาม ลักษณาการแห่ง “ตะวันออกบรรจบตะวันตก” นี้ได้ดำเนินเรื่อยมาและพัฒนาจนถึงจุดสูงสุดในรัชสมัยของพระองค์เอง รวมทั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

ส่วนที่ ๔
จตุตถบรรพ เร่งรุดไปข้างหน้า

ความตื่นเต้นดูราวจะอบอวลในอากาศเมื่อสยามก้าวเร่งรุดไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง หัวรถจักรไอน้ำพาเราเดินทางจากบางกอกไปยังหัวเมืองต่างๆ ตามทางรถไฟที่เริ่มแผ่ขยายออกไปจากพระนคร กิจการรถไฟแรกมีในสยามในสมัยรัชกาลที่ ๕ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ พัฒนาจนเสร็จสมบูรณ์โดยเชื่อมโยงระบบและเส้นทางทั้งหมดให้เป็นโครงข่ายเดียวกัน การสร้างทางรถไฟนี้สะท้อนอิทธิพลของตะวันตกทั้งในเชิงกายภาพและแนวคิดอุดมคติ

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญและลึกซึ้งกว่านั้นคือ การสร้างทางรถไฟเป็นประจักษ์พยานของสำนึกเรื่อง “รัฐชาติ” อันเป็นแนวคิดจากตะวันตกซึ่งมีอิทธิพลต่อชนชั้นปกครองของเอเชีย เชื่อมหัวเมืองใหญ่น้อยเข้ากับเมืองหลวงอันเป็นศูนย์กลาง เพื่อเสริมสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์ ทั้งในเชิงวัฒนธรรมและการบริหารบ้านเมือง สยามประเทศจึงเริ่มกลายเป็นรัฐที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ขยายออกจากพระนคร

อนึ่ง เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๖๑ สำนักจดหมายเหตุแห่งชาติ ร่วมกับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จัดนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลปะ ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่องค์การยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก นับแต่นั้น สำนักหอสมุดแห่งชาติจึงได้มีแผนที่จะเปิดคลังภาพถ่ายฟิล์มกระจกเป็นประจำทุกปี ตามลำดับเวลาของภาพ

โดยการคัดสรรภาพถ่ายฟิล์มกระจกจำนวน ๑,๐๐๐ ภาพ เพื่อให้ภัณฑารักษ์ จัดเป็นนิทรรศการแสดงแก่สาธารณะต่อไป

หอศิลป์ เปิดบริการให้เข้าชมนิทรรศการและกิจกรรม ฟิล์มกระจก เรื่องราวเหนือกาลเวลา ตั้งแต่วันอังคารถึงวันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์) เวลา ๑๐.๐๐ น. – ๑๙.๐๐ น. จากเดิม ๒๑.๐๐ น.


ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย 

  • Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
  • Instagram: @Zipevent
  • Website: www.zipeventapp.com
  • Twitter: @Zipevent
  • Facebook: @Zipevent

Comments

comments

Author

Nothing really goes away