Trending Now

      “สวัสดีครับ สามารถทานอาหารด้านนี้ได้นะครับ” คือเสียงที่ทักทายเรา ในขณะที่เรากำลังเดินชมนิทรรศการอยู่      … เราขอเดาว่าเป็นเค้า เจ้าของงานที่เราตั้งใจจะมาคุยด้วยวันนี้ หลังจากที่เดินชมผลงานของเค้าเสร็จ …

      “สวัสดีค่ะ ใช่คุณทินหรือเปล่าคะ” ประโยคธรรมดาๆ ที่ทำให้การสนทนาของเราและเค้าเริ่มต้น ในการพบกันครั้งแรก

      เราได้รู้จักชื่อของ ‘คุณทิน’ ผ่านการเข้าไปดู Facebook Live ของ ‘คุณวี Tavepong Pratoomwong‘ ช่างภาพสตรีท ที่ได้ชวนช่างภาพสองคนที่กำลังจะมี Exhibition ในตอนนั้น ซึ่งก็คือ ‘คุณตี้ Sirawit Kuwawattananont’ (ที่เราได้ไปเยี่ยมชม Exhibition ของเค้ามาแล้วก่อนหน้านี้ ชมรีวิว) และ ‘คุณทิน Tachpasit Kunaporn’ นี่เอง บทสนทนาใน Live นั้น ทำให้เราเข้าใจว่าเค้าคือช่างภาพสตรีทด้วยเช่นกัน แต่เปล่าเลย เมื่อเราเข้าไปติดตามผลงานของเค้าต่อ ก็ได้พบว่าเค้าคือ ‘ช่างภาพเวดดิ้ง’ แล้วทำไม NEON DIARY นิทรรศการภาพถ่ายที่เกิดขึ้นของเค้า กลับดู Contrast กับการเป็นช่างภาพงานแต่งงานของเค้าเหลือเกิน ลองไปติดตามเรื่องราวของเค้าผ่านบทสนทนาที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันกับเรา

แนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการหน่อย

      ชื่อทิน – ธัชช์ภสิฐ คุณาพร เรียนจบจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพฯ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาโฆษณา ตอนนี้อายุ 31 ปี งานอาชีพหลักตอนนี้เป็นช่างภาพงานแต่ง

แต่จริงๆ แอบรู้มาว่าได้เข้าไปเป็นช่างภาพในกลุ่ม Street Photo ด้วย 

      เราไม่ได้อยู่ในนั้น แต่ว่าเรามีเพื่อนและมีพี่ที่ให้ความเคารพอยู่ ก็คือพี่วี พี่หนิง หลักๆ ก็จะรู้จักสองคนนี้ และก็สมาชิกอีกคนก็จะเป็นหมิงที่สนิทด้วย คุยงานกันตลอด

NEON DIARY ทำไมถึงต้องเป็นชื่อนี้ มีความหมายไหม

      ที่มาของ NEON DIARY จริงๆ แล้วมันก็คือ แสงนีออนทั่วไปที่เรามองแล้วจะไม่เห็นว่ามันกะพริบ แต่จริงๆ มันกะพริบและมีการเกิดดับตลอดเวลา ไม่อยากจะบอกในเชิงปรัญชาพระพุทธ พระลอ ไม่อยากใช้คำนี้มันฟุ่มเฟือย เราอยากให้ทุกคนมองว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาของการเกิด ตาย แต่บางครั้งมันเป็นเรื่องธรรมดา ก็คล้ายๆ กับนีออนนี่แหละ มันธรรมดาจนคนมองไม่เห็น เราก็อยากให้คนกลับมาตระหนักถึงเรื่องตรงนี้ มันเป็นการสอนตัวเองไปในตัวด้วย

ภาพไหนในนิทรรศการนี้ที่คุณทินถ่ายเป็นภาพแรก

      โปรเจคนี้ภาพแรกที่ถ่ายจะเป็นรูปโลงศพกับรูปขอบเตียงของตัวเอง 2 รูปนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของงานนี้ทั้งหมด ซึ่งตอนนั้นที่ไปเรียนถ่ายภาพ อาจารย์เค้าให้ทินกลับไปดูใน Archives ของตัวเอง ให้หารูปที่ตัวเองคิดว่ามันคือ Feeling ของเราตอนนั้น แล้วเราก็บังเอิญไปเจอ 2 รูปนี้วางไว้อยู่ด้วยกัน ในโฟลเดอร์นึง เราก็ตกใจเพราะมันเป็นรูปที่ perspective เหมือนกัน มุมเดียวกัน และมันก็ทำให้เรากลับมาคิดว่า จริงๆ แล้วความตายมันอยู่ใกล้เรามากๆ แต่แค่เรายังมองไม่เห็นมันชัดขนาดนั้น มันก็เลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นของโปรเจค NEON DIARY ขึ้นมา

อยากให้เลือกภาพที่คุณทินชอบมากที่สุด

      ตอนนี้ชอบมากที่สุดคือ รูปทะเลภาพใหญ่ ถ้าเทียบแล้วมันเป็นเหมือนสังสารวัฏ ถ้าจะนิยามความหมายของสังสารวัฏ สำหรับเรานะ มันเหมือนเป็นทะเลที่มันไม่มีที่สิ้นสุด เราต้องไปแล้วไปอีก แล้วบางทีก็หาทางขึ้นฝั่งไม่เจอ หรือบางทีก็เจอแต่สุดท้ายก็โดนกวาดลงไปในทะเลอีก

อยากให้ฝากถึงคนที่เข้ามาเยี่ยมชมนิทรรศการของคุณทินหน่อย ถ้าเค้ามาแล้วจะได้เรียนรู้อะไรจากการเข้ามาชมภาพถ่ายของเราบ้าง

      ก็ไม่อยากจะให้เค้าเข้ามาแล้วมาปลงสังเวชขนาดนั้น (หัวเราะ) เพราะแต่ละคนเราเชื่อว่าเค้ามีประสบการณ์ร่วมกับตัวเองมาบ้างแล้ว บางทีเค้าเข้ามาอาจจะไม่ได้เข้าใจในลักษณะที่เราทำ แต่อย่างน้อยเราอยากให้เค้าได้แก่น หรือได้ความรู้สึกอะไรกลับไปคิด กลับไปทบทวนในสิ่งที่เค้าเป็นอยู่ ณ ตอนนั้น ทินเชื่อว่าอย่างน้อยต้องมีคนที่เคยเผชิญหน้ากับความตายตรงหน้ามา ทินเลยคิดว่า คนในลักษณะนี้ หรือคนประเภทนี้ที่เค้าเคยเจอเหตุการณ์นี้มา เค้าน่าจะอินกับเรื่องนี้ และน่าจะเข้าใจว่า การที่เราอยู่กับความตาย หรืออยู่กับคนที่เค้ากำลังใกล้ตาย จนกระทั่งเค้าตาย มันจะมีอารมณ์ อารมณ์นึงที่ผุดขึ้นมา และทินคิดว่าอารมณ์นั้นมันไม่ใช่อารมณ์ที่แย่ มันเป็นอารมณ์ที่เตือนเราตลอดเวลาว่าเราตายได้ทุกเมื่อ คืออย่างน้อยตอนนั้นเค้าอาจจะลืมไปแล้ว เวลาเค้ากลับมาเนี่ย เราอยากให้เค้ากลับไปอยู่ตรงนั้นอีกครั้ง และเก็บความรู้สึกนั้นไว้กับตัวอีกครั้งนึง

ถ้าสมมติว่านิทรรศการนี้ได้จบไปแล้ว แล้วคนอยากติดตามคุณทินต่อ สามารถติดตามได้ที่ไหน

      ก็เป็นเว็บไซต์ของผม www.tachpasit.com และ Instagram NEON.DIARY เพราะอันนี้มันเป็นเหมือนจบเฟสที่สองแล้ว และตอนนี้ก็กำลังเริ่มทำเป็นเฟสที่สาม

คือคุณทินจะจัดนิทรรศการต่อไปอีก

      ใช่ คือจุดมุ่งหมายสูงสุดของภาพเซตนี้ เราอยากทำเป็นหนังสือ คือตอนแรกวางแพลนไว้แล้วว่าจะทำหนังสือ แต่ว่าพอล่าสุดเราไปดูงานของยูมิโกโตะ ในงาน Photo Bangkok เค้ามาสัมมนาหนังสือ Open House ที่ Central Embassy แล้วเราก็ไปเห็นวิธีการทำหนังสือที่ทำด้วยมือ แล้วบางคนเค้าก็มีเรื่องราวบอกเล่าของตัวเองได้ดีมากในบริบทของหนังสือ พอเราไปดูตรงนั้นแล้ว เราก็มีความรู้สึกว่า เรายังไม่พร้อมที่จะทำหนังสือ เรารู้สึกว่าเรายังทำอะไรได้มากกว่านี้กับหนังสือ มันเลยอาจจะต้องพักไว้ก่อน จริงๆ รูปที่อยู่ในหนังสือมันมีอยู่แค่ 38 รูป แต่พอคิดไปคิดมา เรายังไม่พร้อม เรารอก่อนดีกว่า

ถ้าคุณชอบไปงานอีเว้นท์ศิลปะแบบนี้ แล้วยังไม่รู้จะไปที่ไหนดี สามารถเข้าไปค้นหาอีเว้นท์ที่ใช่เพิ่มเติมได้ที่ www.zipeventapp.com

Comments

comments