Trending Now

โครงการนิทรรศการ วังน่านิมิต บอกเล่าเรื่องราวของพระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ในมุมแห่งการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 ต่อเนื่องถึงรัชกาลที่ 5 โดยเฉพาะด้านฐานานุศักดิ์ของสถาปัตยกรรมเฉพาะพระเจ้าแผ่นดิน ที่นำเสนอประเด็น เรื่องราว และข้อสันนิษฐานต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พระราชวังบวรสถานมงคล (วังหน้า) ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2325 และถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชกาลที่ 5 โดยวางแผนการจัดทำนิทรรศการโดยใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องนำเสนอ ที่สร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม และเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ให้เข้ากับปัจจุบัน

วังน่านิมิต

รู้หรือไม่ว่า พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร คือส่วนหนึ่งของวังหน้า ที่ยังเหลืออยู่

วังน่านิมิต

หลายคนอาจไม่รู้ว่า วังหน้าในอดีตนั้นกว้างใหญ่มาก มีอาณาเขตครอบคลุมสถานที่หลายแห่งในปัจจุบัน เริ่มจากเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ถัดมาสู่สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ โรงละครแห่งชาติ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เกือบทั้งหมด แนวกำแพงโบราณบนถนนพระจันทร์ และครึ่งหนึ่งของสนามหลวงด้านทิศเหนือ ทั้งหมดนี้คือพื้นที่ของวังหน้าในอดีต

วังหน้า มีความสำคัญอย่างไร

วังน่านิมิต

วังหน้ามีความสำคัญมากในช่วงสมัยต้นรัตนโกสินทร์ เกิดขึ้นพร้อมการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อ พ.ศ. 2325 เพื่อใช้เป็นที่ประทับของกรมพระราชวังบวรสถานมงคลพระองค์แรก หรือพระมหาอุปราช ผู้ทรงเปรียบเสมือนมือขวาของพระเจ้าแผ่นดิน ปฏิบัติราชการร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมีอำนาจรองลงมาจากพระมหากษัตริย์ มีบทบาทหน้าที่เดียวกับลักษณะการตั้งทัพอย่างโบราณ ที่จะต้องมีทัพหน้า ทัพหลวง และทัพหลัง โดยวังหน้าเป็นผู้นำ ‘ทัพหน้า’ นำหน้ากองทัพหลวงเวลาออกศึกสงคราม และคำว่า ‘หน้า’ นี้ยังรวมถึงเรื่องที่ตั้งของวังหน้า ซึ่งตั้งอยู่ ‘ด้านหน้า’ ของวังหลวงอีกด้วย

วังน่านิมิต

ปัจจุบันพื้นที่ของวังหน้าได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร โรงละครแห่งชาติ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฏศิลป์ และสนามหลวงอีกราวครึ่งสนาม อาคารของวังหน้าที่ยังปรากฏให้เห็นในปัจจุบัน เป็นส่วนของพระที่นั่งและพระราชมณเฑียรสถานสำคัญภายในพระราชวังชั้นกลางและชั้นใน ที่ยังคงสืบทอดลักษณะทางสถาปัตยกรรมของการสร้างวังตามฐานันดรศักดิ์ของเจ้าของวัง ซึ่งเรียกกันว่า ฐานานุศักดิ์

วังน่านิมิต

การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของวังหน้า

วังน่านิมิต

วังหน้าในสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นทั้งตำแหน่งทางการเมืองและสถานที่ซึ่งรุ่งเรืองด้วยอำนาจ เป็นรองก็เพียงพระมหากษัตริย์เท่านั้น พัฒนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับวังหน้า ซึ่งก่อตั้งพร้อมการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งในฐานะ ตำแหน่งทางการเมือง (กรมพระราชวังบวรสถานมงคล) และในฐานะ สถานที่ (วังหน้า) เปลี่ยนแปลงเพิ่มลดเป็นไปโดยสัมพันธ์กับอำนาจทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ

ในสมัยอำนาจของเจ้าผู้ครองวังหน้าแผ่ไพศาลเกือบจะทัดเทียมวังหลวง

วังน่านิมิต

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท วังหน้าพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระเชษฐา พระอนุชา ร่วมรบกู้ชาติสร้างเมืองด้วยกันมา ชาวบ้านร้านถิ่น ในบางครั้งยังถึงกับเรียกว่า พระเจ้าแผ่นดินทั้งสองพระองค์

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงสถาปนาสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ขึ้นเป็นพระมหาอุปราช และยกให้มีพระเกียรติยศอย่างพระเจ้าแผ่นดิน พระราชทานพระนามว่า ‘สมเด็จพระปวเรนทราเมศมหิศเรศรังสรรค์ พระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว’ เมื่อพระอิสริยยศเสมอด้วยพระเจ้าแผ่นดิน การใดไม่เคยมีในวังหน้าก็ได้มีขึ้นในสมัยนี้ โดยเฉพาะการสร้างสถาปัตยกรรมที่สะท้อนฐานานุศักดิ์เดียวกับพระมหากษัตริย์ นั่นคือ ‘พระที่นั่งคชกรรมประเวศ’ สร้างอยู่ด้านหน้าของพระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งองค์นี้สร้างด้วยไม้ เป็นอาคารแรกและอาคารเดียวในวังหน้าที่มีเครื่องยอดทรงปราสาทแบบเดียวกับในพระบรมมหาราชวัง ด้านหน้ามีเกยสำหรับขึ้นช้าง รวมถึงมีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทรงสร้างสถานที่เพิ่มเติมขึ้นในวังหน้า เช่น โรงปืนใหญ่ โรงทหาร คลังสรรพยุทธ ตึกดิน โรงทหารเรือที่ริมแม่น้ำข้างใต้ตำหนักแพ และพระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์

วังน่านิมิต

สมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ในเชิงสถานที่ของวังหน้า

ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดสร้างวัดโดยใช้ศิลปะต่างๆ ที่รับอิทธิพลมาจากจีน เพราะเป็นประเทศที่สยามติดต่อค้าขายด้วยมากในสมัยนั้น เรียกได้ว่าเป็นพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 มีการก่ออิฐ ต่อเรือ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เดิมอาจจะมีอยู่แล้ว แต่ความสวยงาม ความเป็นศิลปะก็อาจจะมากขึ้นในสมัยนี้ ส่วนใหญ่เป็นการปรับหมู่พระมณเฑียร แต่บางอย่างก็สร้างใหม่อย่างวัดบวรสถานสุทธาวาส หรือวัดพระแก้ววังหน้า (รายละเอียดเชิงลึกอ่านต่อได้ที่นี่)

วังน่านิมิต

การสิ้นสุดของวังหน้า

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ คือวังหน้าพระองค์สุดท้ายแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงเป็นพระโอรสองค์โตในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงขึ้นสู่ตำแหน่งพระมหาอุปราชได้ เพราะทรงได้รับการสนับสนุนจากสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้สำเร็จราชการแทนรัชกาลที่ 5 และเป็นขุนนางที่มีอำนาจมาก  ทั้งที่การแต่งตั้งพระมหาอุปราชเป็นพระราชอำนาจส่วนพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน ความสัมพันธ์ระหว่างวังหลวงและวังหน้าในแผ่นดินนี้ จึงเป็นไปในลักษณะวางเฉยต่อกัน โดยมีความระแวงต่อกันเรื่อยมา

วังน่านิมิต

กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญทรงเป็นวังหน้าพระองค์เดียวที่มีไพร่ในสังกัดมากล้นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าวังหลวง ถือเป็นอำนาจขนาดใหญ่ที่อยู่ใกล้อำนาจหลักของพระเจ้าแผ่นดินอย่างไม่น่าไว้ใจ โชคดีที่ในที่สุดเหตุทั้งปวงก็ยุติลงได้โดยสงบ  และอำนาจทางการเมืองแบบจารีตก็ค่อยๆ สลายลงไปพร้อมๆ กับการเสด็จทิวงคตของกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2428

หลังรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้ประกาศยกเลิกตำแหน่งพระมหาอุปราชฝ่ายหน้าลง ก็โปรดเกล้าฯ ให้จัดเขตวังชั้นนอกเป็นโรงทหารรักษาพระองค์ ส่วนวังชั้นกลางให้จัดเป็นพิพิธภัณฑสถานที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ และพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมได้ โดยเรียกรวมว่า ‘โรงมูเสียม’ หรือ ‘มูเสียมของหลวงที่วังหน้า’ เรียกทับศัพท์จากคำว่า Museum ในภาษาอังกฤษ ส่วนวังชั้นในยังมีเจ้านายสตรี เสด็จฯ ประทับอยู่เป็นจำนวนมาก จึงโปรดให้เป็นพระราชวังมีเจ้าพนักงานดูแลอยู่เช่นเดิม

วังน่านิมิต

หลังการสิ้นสุดของวังหน้า

หลายปีผ่านไปหลังการสิ้นสุดของวังหน้า สถานที่และป้อมปราการต่างๆ ที่ซ่อมแซมล่าสุดในสมัยพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ถึงคราวชำรุด รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชดำริว่า เห็นควรรักษาไว้เฉพาะที่สำคัญเท่านั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้รื้อป้อมปราการสถานที่ต่างๆ ออก ส่วนชั้นนอกด้านทิศตะวันออกลงไปให้เปิดพื้นที่เป็นท้องสนามหลวงแทน (รายละเอียดเชิงลึกอ่านต่อได้ที่นี่)

วังน่านิมิต

โครงการ นิทรรศการ “วังน่านิมิต”

‘วังน่านิมิต’ นิทรรศการชื่อแปลกตา ด้วยสะกดตามอย่างการเขียนแบบโบราณในพระนิพนธ์ ตำนานวังน่า ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ จัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกรมศิลปากร และสำนักงานมูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นนิทรรศการที่บอกเล่าเรื่องราวของ ‘พระราชวังบวรสถานมงคล’ หรือ ‘วังหน้า’ อดีตพระราชวังที่รุ่งเรืองด้วยอำนาจมากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นที่ประทับของพระมหาอุปราช หรือกรมพระราชวังบวรสถานมงคล โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนาตำแหน่งนี้ขึ้น พร้อมกับการตั้งกรุงรัตนโกสินทร์ใน พ.ศ. 2325 ตราบจนกระทั่งสิ้นสุดลงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใน พ.ศ. 2428 (รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านที่นี่)

วังน่านิมิต

‘วังน่านิมิต’ ภาคแรกจะจัดแสดงที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 10-27 มิถุนายนนี้ ส่วนภาคที่ 2 เป็นการจัดแสดงข้อมูลที่ใช้ในการสร้างงานนิทรรศการ รวมถึงข้อมูลวังหน้าที่น่าสนใจต่างๆ รวมไว้ในช่องทางออนไลน์ ให้ผู้ที่สนใจเข้าไปสืบค้นได้ที่ www.wangnaproject.space ส่วนภาคที่ 3 คือการยกนิทรรศการ วังน่านิมิต ที่เสร็จสิ้นจากการจัดที่หอศิลป์ฯ กรุงเทพฯ แล้ว ไปจัดแสดงอีกครั้งบนพื้นที่จริง คือที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ในเดือนธันวาคม

วังน่านิมิต

ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ และสามารถศึกษาอ่านต่อเกี่ยวกับโครงการนิทรรศการวังน่านิมิต ได้ที่ The Standard | โครงการนิทรรศการวังน่านิมิต

Comments

comments