นิทรรศการ ดรีมเวิลด์ #ดรีมมันตรา Zipevent

นิทรรศการ ดรีมเวิลด์ #ดรีมมันตรา

15 Apr 2023 - 1 Apr 2024
10:00 - 18:00 (UTC+7)
MAIIAM Contemporary Art Museum

Event Information


Dreamworld #dreammantra

ดรีมเวิลด์ #ดรีมมันตรา

นิทรรศการ ดรีมเวิลด์ #ดรีมมันตรา (Dreamworld #dreammantra) นิทรรศการโดย มิตร ใจอินทร์ คัดสรรโดย เมลานี โพค็อก และ กิตติมา จารีประสิทธิ์ นิทรรศการจัดแสดงระหว่างวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2566 - 1 เมษายน พ.ศ.2567 นำเสนอผลงาน บางส่วนที่เคยจัดแสดงในนิทรรศการ ดรีมเวิลด์ (Dreamworld) ณ ไอคอน แกลเลอรี่ (Ikon Gallery) เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2564 รวมถึงผลงานชุดใหม่จากโครงการศิลปะที่เน้นการมีส่วนร่วมภายใต้ชื่อ ดรีมมันตรา ( #dreammantra, 2566) และ บ่อ (pond, 2566)  

ดรีมเวิลด์ #ดรีมมันตรา คือส่วนต่อขยายของ ดรีมเวิลด์ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของ มิตร ใจอินทร์ ในยุโรป ซึ่งได้หมุนเวียนไปจัดแสดง ณ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน ในชื่อนิทรรศการ ดรีมเดย์ (Dreamday) เมื่อ พ.ศ. 2565 เมื่อปีที่ผ่านมา โดยนิทรรศการนี้จะนำเสนอความฝันถึงสังคมอุดมคติ (utopia) ของศิลปิน และความหวังของผู้คนที่มีร่วมกันถึงอนาคตที่สดใสกว่า ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันว่าทั้งภาวะโรคระบาดครั้งใหญ่ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และภูมิรัฐศาสตร์ระดับโลก ได้แพร่กระจายความรู้สึกหดหู่สิ้นหวังสู่สังคมอย่างกว้างขวาง จนทำให้ผู้คนส่วนหนึ่งเลือกที่จะถอนตัวจากชีวิตจริง ความท้าทายเหล่านี้กระตุ้นให้เราจินตนาการถึงทางเลือกในการใช้ชีวิต ที่ต่อต้านวิถีการผลิตอันเอารัดเอาเปรียบ (exploitative modes of production) และทดแทนด้วยการสนับสนุนคุณค่าของการดำรงอยู่ การสร้างบทสนทนาร่วม และการดำเนินธุรกรรมอย่างโอบอ้อมอารีในรูปแบบเศรษฐกิจของขวัญ (gift economies) 

หัวใจหลักในการทำงานศิลปะของ มิตร ใจอินทร์ คือการหมุนเวียนพลังงานบวกระหว่างเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ มิตรใช้สื่อจิตรกรรมเป็นเครื่องมือส่งผ่านสนามพลังจากโลก (ผ่านแหล่งที่มาของวัสดุที่ใช้สร้างสรรค์ผลงาน) แปรรูปสู่ชิ้นงาน และหมุนเวียนพลังงานนี้สู่บรรยากาศแวดล้อมชิ้นงานและผู้ชม เขามักสร้างผลงานบนผ้าใบที่ยังไม่ถูกขึงในยามค่ำคืน ละเลงสีด้วยมือ กดด้วยนิ้ว และป้ายด้วยเกรียง ก่อนจะใช้สัญชาตญาณผสานสีสันอันหลากหลายเข้าด้วยกัน ความหนาของเนื้อสีเกิดจากการผสมกันของน้ำมัน ผงแร่ยิปซัม ผงสี และสีอะคริลิค และบางครั้งเขาก็ใช้น้ำมันลินซีด ลดทอนความหนาของชั้นสีให้บางลง เมื่อถึงจุดหนึ่ง ร่องรอยของกลุ่มก้อนและจุดสีก็ต่างร้อยเรียงเกิดเป็นจังหวะ รูปแบบ และภาษาเฉพาะตัว

ในฐานะพุทธศาสนิกชน มิตรมองศิลปะในฐานะรูปแบบของ “สถาปัตยกรรมทางสังคม” อันเป็นเครื่องมือสะท้อนพลวัตของเศรษฐกิจผู้บริโภค (consumer economies) ที่ถูกควบคุม เป็นเวลาหลายปีที่เขาทำงานโดยไม่ระบุตัวตนให้กับศิลปินท่านอื่นโดยไม่รับค่าตอบแทน รวมถึงทำงานของตัวเองเพื่อแจกจ่ายให้กับคนทั่วไปราวกับเป็นสิ่งของสาธารณะ ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการเชียงใหม่จัดวางสังคม (Chiang Mai Social Installation : CMSI) เขาสร้างผลงานเพื่อแจกจ่ายให้กับศิลปินที่ร่วมโครงการและชาวบ้านในพื้นที่ ราวกับเป็นของสาธารณะ สิ่งนี้เน้นย้ำว่าสำหรับมิตร งานศิลปะคือของกำนัล (gifts) ที่ซึ่งคุณค่าของมันขึ้นอยู่กับผู้ครอบครอง เจ้าของสถานที่จัดงาน และผู้รับชม

ดรีมเวิลด์ #ดรีมมันตรา สำรวจพลังแห่งการเยียวยาและพลังทางสังคมของศิลปะ ผ่านผลงานอันเปี่ยมชีวิตชีวาซึ่งเปิดให้ผู้ชมสามารถจับต้องสัมผัส มุดผ่าน เหยียบย่ำ หรือกระทั่งนำติดตัวกลับบ้าน โดยเปลี่ยนพื้นที่จัดแสดงงานของพิพิธภัณฑ์ให้กลายเป็นเสมือนบ้านพักอาศัย ที่จะนำมาซึ่งการมีส่วนร่วมและการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เมื่อก้าวเท้าเข้าสู่พิพิธภัณฑ์ฯ จะพบกับ บ่อ (2566) ผลงานที่ผลิตขึ้นโดยเฉพาะสำหรับจัดแสดงครั้งนี้ บ่อน้ำขนาดใหญ่ที่มีประติมากรรมกว่าร้อยชิ้นลอยอยู่ Dream Tunnel (2564) ผลงานจิตรกรรมจัดวางที่ห้อมล้อมผู้ชมด้วยหมู่มวลเส้นสายหลากสีสัน ซึ่งเปิดให้ผู้ชมสามารถเดินหรือลอดผ่าน ศิลปินตั้งใจใช้งานชิ้นนี้ช่วย “ชำระล้างความซบเซาหรือบาดแผลอันเจ็บปวด” Midlands Dwelling (2564) อ้างอิงจากถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์ ที่ซึ่งมนุษย์ในยุคนั้นได้จดจารความฝันของพวกเขาผ่านจิตรกรรมบนผนังถ้ำ ผสานกับแรงบันดาลใจของศิลปินระหว่างที่เขาไปเยือนเมืองเบอร์มิงแฮม จนเกิดเป็นประติมากรรมเหล็กที่ล้อมรอบด้วยงานจิตรกรรมคล้ายโถงถ้ำ Dream Works (2542–) และ Loops (2562–) เป็นผลงานชุดจิตรกรรมบนผืนผ้าใบทั้งสองด้าน ที่ผ่านการตัดและผ่าเพื่อให้เกิดเส้นสายโค้งเว้าและรูปทรงบ่วง โดยสามารถจัดแสดงได้ทั้งการแขวนบนผนัง หรือวางบนพื้น

#ดรีมมันตรา คือหัวใจสำคัญของนิทรรศการในครั้งนี้ และเป็นการสานต่อโครงการศิลปะที่เน้นการมีส่วนร่วมของมิตร ทั้งจากโครงการ เวียนนา อพาร์ทเม้นท์ (2543) #dreammantra (2564) และบางกอก อพาร์ทเม้นท์ (2565) ที่มิตรเปิดโอกาสให้ผู้ชมนำผลงานที่จัดแสดงกลับบ้านได้ โดยแลกกับสิ่งตอบแทนอื่นที่ไม่ใช่เงิน แต่เป็นการเปิดบ้านของผู้ที่รับชิ้นงานไปให้คนแปลกหน้าเข้าชมเพื่อใช้เวลาร่วมกัน เช่นเดียวกับ #ดรีมมันตรา (2566) ที่โครงการนี้จะเปิดให้ผู้ชมสามารถเลือกผลงานกลับบ้านได้วันละ 1 ชิ้น* ตลอดระยะเวลาจัดแสดง โดยแลกเปลี่ยนกับการให้คำปฏิญาณเรื่องใดก็ได้ต่อตนเองและสังคม โดยบันทึกคำสัญญานั้นในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว และนำเสนอสู่สาธารณะในแพลทฟอร์มออนไลน์ผ่านช่องทางยูทูปของพิพิธภัณฑ์ฯ  

ในครั้งนี้ศิลปินได้สร้างประติมากรรมกระดาษจำนวนกว่าหลายร้อยชิ้น โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ‘หินบอกเขต’ (marking stone) ประกอบด้วยวัตถุรูปทรงคล้ายก้อนหิน บางชิ้นทึบและมีขา บางชิ้นกลวงและมีช่องว่างให้ใส่สิ่งของลงไปได้ ส่วนกลุ่มที่สอง ‘แสงสว่างบอกทาง’ (marking light) เป็นชุดโคมไฟแบบมีขาตั้งหลากระดับ มิตรได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างงานชุดนี้มาจากใบเสมา ซึ่งเป็นหลักกำหนดเขตแดนภายในศาสนสถานสำหรับประกอบพิธีกรรมในพุทธศาสนา ทั้งนี้ อีกนัยหนึ่ง มิตรมุ่งหวังว่าวัตถุที่เขาสร้างจะเป็นดังเครื่องรางที่ช่วยกางเขตแดนให้บ้านกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย รวมถึงเป็นหลักอันมั่นคงแก่จิตใจ และเป็นที่หลบภัยในยามยากให้แก่ผู้ชม 

ผลงานชุด #ดรีมมันตรา นำพาเราย้อนกลับไปสำรวจแนวความคิด ‘สถาปัตยกรรมทางสังคม’ ที่ซึ่งวางสถานะของงานศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนและสังคม และเป็นดังของกำนัลให้กับความตั้งมั่นและความแน่วแน่ของผู้ชมในการปฏิญาณต่อตนเองและสังคม พร้อมไปกับการจัดแสดงนิทรรศการนี้ ท่านสามารถรับชมหรือหาซื้อหนังสือรวบรวมผลงานและชีวิตของมิตร ใจอินทร์ ตีพิมพ์โดยไอคอน และมูลนิธิ ArtAsiaPacific ได้ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม หนังสือจัดพิมพ์ในรูปแบบสี่สี รวมทั้งบันทึกผลงานจากนิทรรศการ Dreamworld ณ ไอคอน แกลเลอรี่ รวมไปถึงชิ้นงานสำคัญ และบทความโดย เมลานี โพค็อก ภัณฑารักษ์จาก ไอคอน, ไซม่อน ซุน นักประวัติศาสตร์ศิลปะ, ไบรอัน เคอทิน ภัณฑารักษ์ และบทสัมภาษณ์ศิลปินโดย กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการหอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน

 

*หมายเหตุ สงวนสิทธิ์แลกเปลี่ยนวัตถุ 1 ชิ้น ต่อผู้ชม 1 ท่าน โดยจำกัดวันละ 1 ชิ้นเท่านั้น

 

CR : https://www.thailandexhibition.com/thai-event-details/%\

 


Location Details


MAIIAM Contemporary Art Museum

LOCATION

122, Moo 7 Tonpao San Kamphaeng District Chiang Mai, 50130 Thailand

VIEW MAP