ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา Zipevent

ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช: สายสัมพันธ์สยามและชวา

1 Nov 2019 - 31 May 2021
09:00 - 16:30 (UTC+7)
Queen Sirikit Museum of Textiles

Event Information


ผ้าบาติกในพระปิยมหาราช สายสัมพันธ์สยามและชวา จัดแสดงผ้าบาติกใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนชวาอย่างเป็นทางการ ทั้ง ๓ ครั้ง ในพุทธศักราช ๒๔๑๓ ๒๔๓๙ และ ๒๔๔๔ โดยระหว่างการเสด็จพระดำเนินทั้งสามครั้ง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงซื้อและทรงได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายผ้าบาติกรวมจำนวนกว่า ๓๐๐ ผืน ผู้เข้าชมจะได้ร่วมระลึกถึงพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการเสด็จฯ ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับชวา ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศอันยั่งยืนมาจนถึงปัจจุบัน และเพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมการใช้ผ้าบาติกในประเทศอินโดนีเซีย

 

วัตถุจัดแสดงชิ้นสำคัญ

– ผ้านุ่ง (โสร่ง) ลายสิราปัน ห้องจัดแสดง 3

– ผ้าโพกหัว ลายกาบาห์ สินาวูร์ ห้องจัดแสดง 4

– ผ้านุ่ง (กายน์ ปันจัง) ลายสิริกิติ์ ห้องจัดแสดง 4

 

 

ผ้าบาติกในแถบชวากลางชวากลาง

ผ้าบาติกในแถบชวากลาง แบ่งได้เป็นบาติกในราชสำนักและบาติกที่ใช้ทั่วไป สำหรับผ้าบาติกในราชสำนักนั้น มีการใช้วัตถุดิบคุณภาพดีในการผลิต และใช้แรงงานฝีมือชั้นยอดเขียนลายที่บังคับใช้ตามลำดับชั้นยศของผู้สวมใส่ สำหรับผ้าบาติกทั่วไปมีการใช้ผ้าคุณภาพดีและลวดลายคล้ายๆ ราชสำนัก แต่จะมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อยเพื่อให้ไม่ผิดต่อกฎข้อห้าม

 

ผ้าบาติกจากเมืองยอกยาการ์ตา นิยมใช้พื้นสีขาว ย้อมด้วยสีน้ำเงินและสีน้ำตาลเข้มเหมือนช็อกโกแลต มักปล่อยพื้นหลังให้โล่ง นิยมเขียน ลายปารัง รูสัก ลายกาวุง เป็นต้น ส่วนผ้าบาติกเมืองสุราการ์ตาจะมีพื้นสีเหลือง ย้อมด้วยสีน้ำเงินเข้มกว่าของยอกยาการ์ตา และสีน้ำตาลอมเหลือง มักเขียนลายเล็กๆ ตกแต่งบริเวณพื้นหลังทั่วทั้งผืน ผ้าบาติกเมืองบันยูมาส รูปแบบใกล้เคียงกับผ้าจากยอกยาการ์ตา แตกต่างกันที่พื้นหลังอาจมีสีเหลืองทอง (mas) เหมือนสีของน้ำในแม่น้า (Banyu)

ผ้าบาติกในแถบชวาตะวันตก

การผลิตผ้าบาติกในชวาตะวันตกส่วนใหญ่อยู่บริเวณพื้นที่ติดกับชวากลาง ลวดลายของผ้าจึงได้รับอิทธิพลจากผ้าบาติกของทั้งยอกยาการ์ตาและสุราการ์ตา แต่เนื่องจากมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ จึงปรากฏลวดลายผ้าแปลกตาจากอิทธิพลอินเดีย เปอร์เซีย และจีน

ผ้าบาติกเมืองจิเรบอน มักมีพื้นหลังสีอ่อน ปรากฏลวดลายอิทธิพลจีน ย้อมด้วยสีเข้ม

ผ้าบาติกจากเมืองอินดรามายู มีทั้งแบบที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย เปอร์เซีย และจีน รวมทั้งแบบดั้งเดิมซึ่งนิยมเขียนลายเรขาคณิต มักจับคู่สีแดงและสีขาว หรือสีน้ำเงินและสีขาว แต่ฝีมือการเขียนผ้าไม่ละเอียดประณีตเท่าผ้าของเมืองจิเรบอน

ผ้าบาติกเมืองการุต ทำสีพื้นสีเหลืองอ่อนเหมือนมะม่วงใกล้สุก เรียกว่า “กูมาดิง” (Gumading) และเขียนลายขนาดเล็กซึ่งย้อมด้วยสีแดงอมน้ำตาลและสีน้ำเงิน และมักย้อมสีทับอีกสีหนึ่งเพื่อให้ได้สีดำเป็นเอกลักษณ์

ผ้าบาติกของทาสิกมาลายา นิยมลายในแนวทแยงซึ่งน่าจะได้รับอิทธิพลมาจากชวากลาง

ผ้าบาติกจากเมืองจิปีเดส ย้อมด้วยสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ จากแร่ธาตุในแม่น้ำ แต่ปัจจุบันเกิดปัญหามลพิษทางน้ำ จึงไม่สามารถย้อมสีแดงที่เป็นเอกลักษณ์ได้

ผ้าบาติกในแถบชายฝั่งตอนเหนือของชวากลาง

ผ้าบาติกจากชายฝั่งตอนเหนือของชวากลาง ได้รับอิทธิพลจากหลายพื้นที่ ปรากฏลวดลายและความเชื่อของชาวจีน ชาวยุโรป ชาวมุสลิมต่างชาติ และชาวชวา เนื่องจากเจ้าของโรงเขียนส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ

ผ้าบาติกเมืองลาเซ็ม มีการย้อมสีแดงอันเป็นเอกลักษณ์ และลวดลายอิทธิพลจากความเชื่อของชาวจีน เนื่องจากเจ้าขอโรงเขียนผ้าส่วนใหญ่เป็นชาวจีน และผ้าบาติกเมืองนี้จะเรียกผ้าจากสีสัน ต่างจากเมืองอื่นๆ ที่เรียกผ้าบาติกตามชื่อลาย

ผ้าบาติกจากเปอกาลองงัน คล้ายผ้าบาติกจากเมืองลาเซ็ม แต่จะใช้สีหลากหลายกว่า มีโรงเขียนผ้าของทั้งชาวจีน ชาวยุโรป ชาวมุสลิมต่างชาติ และชาวชวา ทำให้ลวดลายที่ปรากฏบนผ้าได้รับอิทธิพลจากหลากหลายพื้นที่ รวมถึงจากราชสำนักชวากลางด้วย

ผ้าบาติกจากเมืองเซมารัง จากโรงเขียนของ แคโรลินา วอน แฟรงเคอมองต์ มีความโดดเด่นในการสร้างสรรค์ลวดลายใหม่ๆ กลายเป็นลวดลายพื้นฐานของผ้าบาติกชายฝั่งตอนเหนือของเกาะชวาในเวลาต่อมา ทั้งการตกแต่งลวดลายเรขาคณิตบริเวณหัวผ้าและลายลูกไม้ที่กรอบผ้า และการย้อมสีเหลืองทับลงไปบนสีฟ้า เป็นสีเขียวที่เป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญ เรียกกันว่าสีเขียวแบบ “แพรงกามอง” (Prankamon)

 

Location Details


Queen Sirikit Museum of Textiles

LOCATION

พระบรมมหาราชวัง Na Phra Lan Rd, Khwaeng Phra Borom Maha Ratchawang, Khet Phra Nakhon, Bangkok, 10200 Thailand

VIEW MAP