รามเกียรติ์พม่า The Special Lecture and Study Trip Zipevent

รามเกียรติ์พม่า The Special Lecture and Study Trip

25 Jan 2020
13:30 - 16:00 (UTC+7)
Thammasat University - Tha Prachan Campus

Event Information


รามเกียรติ์พม่า
The Special Lecture & Study Trip

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์

บรรยายพิเศษ วันเสาร์ที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐ – ๑๖.๐๐ น. (ร่วมงานฟรี-ลงทะเบียนหน้างาน)
ณ ห้อง ๑๐๗ (ริมน้ำ) คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ทัศนศึกษา มัณฑะเลย์ อังวะ สะกาย โมนยวา
วันศุกร์ที่ ๑๔ - วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓
(ลงทะเบียน ๒๔,๕๐๐.- บาท)

รายการนำชม

• โบราณสถานร้างในเมืองอังวะที่มีร่องรอยงานปูนปั้นศิลปะอยุธยา
• วัดมหาเตงดอจี-ชมจิตรกรรมฝาผนังศิลปะอยุธยา อาทิ ภาพบุษบกเก้ายอด
• ถ้ำโพวินต่อง-ชมภาพจิตรกรรมฝาผนังและพระพุทธรูปในหมู่ถ้ำกว่า ๙๐๐ คูหา ผลงานชิ้นสำคัญของพม่าสมัยราชวงศ์คองบอง
• พิพิธภัณฑ์คองบอง-สถานที่เก็บรักษาภาพสลักเล่าเรื่องรามายณะ จำนวน ๓๔๗ ภาพ และศิลาจารึกประวัติการสร้าง
• พระเจดีย์มหาโลกามาราเซียน ที่มาของภาพสลักรามายณะซึ่งแต่เดิมเคยประดับอยู่รอบฐานพระเจดีย์
• วัดเจ้าก์แส่ ตะโม๊ะ ชเวกูจี โบราณสถานสำคัญสมัยพุกาม ถูกฝังกลบโดยธรรมชาติยาวนานกว่า ๗๐๐ ปี ผลการขุดสำรวจอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๕๕๑ เผยให้เห็นวิหารทรงปราสาทจตุรมุขสมัยพุกามที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์แม้กระทั่งลายปูนปั้น

สนใจร่วมงานแจ้งความประสงค์ที่
LINE ID: p.foundation
โทร: 080-671-1833
อีเมล์: piriyafoundation@gmail.com

โอนยืนยันจองร่วมทัศนศึกษาได้ที่
บัญชีมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์
เลขที่: 408-244-8765
SCB ธนาคารไทยพาณิชย์

หมายเหตุ: - ราคาค่าใช้จ่ายกรณีไม่รวมตั๋วเครื่องบินและอาหารบนเครื่องคือ 17,000 บาท

.....................................

รามเกียรติ์พม่า
#TheSpecialLecture

ความรู้เกี่ยวกับเรื่องรามเกียรติ์ในประเทศพม่าของไทยเพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ (2010) เมื่อคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากรได้ไปสำรวจศิลปะไทยในประเทศพม่า* ต่อมานักวิชาการพม่าจึงได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดและมีการตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี พ.ศ. ๒๕๖๑ (2018) ชื่อ The Thiri Rama: Finding Ramayana in Myanmar** เรื่องราวจึงกระจ่างชัดขึ้น ต้นปี พ.ศ. ๒๕๖๒ (2019) ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ได้ทำการค้นคว้าต่อยอดเนื่องด้วยว่ามีความเกี่ยวข้องกับรามเกียรติ์ไทยสมัยอยุธยา และได้นำไปเสนอบนเวทีสัมมนาวิชาการที่จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส***

เรื่องรามเกียรติ์ในพม่าเริ่มปรากฏขึ้นหลังจากพม่าไปตีกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๒๓๑๐ (1767) เมื่อเจ้านายสยามและประชากรถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่เมืองอังวะ ก่อนหน้านั้นไม่ปรากฏว่ามีภาพเรื่องรามเกียรติ์ในประเทศพม่าเพราะพม่าถือเป็นเรื่องทางโลกียะขัดต่อจริยธรรมและศีลธรรมทางพุทธศาสนา หลังจากเชลยศึกชาวสยามนำ “โขน” ไปเผยแพร่จึงเป็นที่นิยมขึ้นในราชสำนัก โดยมีพระราชินีของพระเจ้าสินธู (พ.ศ. ๒๓๑๙-๒๓๕๒ [1776-1782]) ทรงให้การอุปถัมภ์จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของนาฏศิลป์ในราชสำนักสมัยราชวงศ์คองบอง (พ.ศ. ๒๒๙๕-๒๔๒๘ [1752-1885]) หลักฐานด้านทัศนศิลป์ที่สมบูรณ์ที่สุดของรามเกียรติ์ในประเทศพม่าเป็นภาพสลักศิลาประดับฐานเจดีย์มหาโลกามาราเซียน ในเขตโมนยวา มณฑลสะกาย ภาพสลักเล่ามหากาพย์รามายณะตั้งแต่ต้นจนจบมีจำนวนทั้งสิ้น ๓๔๗ ภาพ มีศิลาจารึกบอกประวัติการสร้างพระเจดีย์ว่าอยู่ในช่วง พ.ศ. ๒๓๘๙-๒๓๙๒ (1846-1849) หลังจากชาวบ้านได้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระเจดีย์ครั้งล่าสุด จึงถอดภาพสลักเหล่านั้นไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์คองบอง ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัด

เชิงอรรถ

*อรวินท์ ลิขิตวิเศษกุล. ช่างอยุธยาในเมืองพม่ารามัญ: หลักฐานศิลปกรรมฝีมือช่างกรุงศรีฯ ในเมืองสะกาย มินบู และมนยวา. กรุงเทพฯ: อิโคโมสไทย. ๒๕๕๓.
**Dawn F. Rooney, [Editor]. The Thiri Rama: Finding Ramayana in Myanmar. New York: Routledge. 2017.
***เรื่องนี้ได้นำเสนอครั้งแรก ณ สถาบันภาษาและอารยธรรมตะวันออกแห่งชาติ (Institut National des Langues et Civilisations Orientals - INALCO) กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ในชื่อหัวข้อ "Nineteenth Century Sculpture of the Ramayana in Myanmar and Thailand"

รามเกียรติ์พม่า
#TheStudyTrip

เนื่องด้วยอังวะเคยเป็นราชธานีของพม่า เป็นที่อยู่อาศัยของเชลยศึกชาวสยาม จึงมีร่องรอยศิลปะอยุธยาหลงเหลืออยู่บ้าง เช่นที่วัดมหาเตงดอจีมีภาพจิตรกรรมฝาผนังรูปบุษบกเก้ายอด และที่วัดร้างแห่งหนึ่งมีภาพปูนปั้นรูปเจดีย์เหลี่ยมย่อมุมทรวดทรงแบบเจดีย์สยาม

ศิลปะพม่าที่สำคัญแห่งหนึ่งคือภาพจิตรกรรมฝาผนังและพระพุทธรูปในหมู่ถ้ำโพวินต่อง ถ้ำที่เกิดจากการขุดเจาะเข้าไปในภูเขาหินทรายซึ่งที่มีจำนวนกว่า ๙๐๐ คูหา ภาพจิตรกรรมส่วนใหญ่เขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๒๒-๒๔ (คริสต์ศตวรรษที่ 17-18) อันเป็นผลงานชั้นเลิศของศิลปะพม่าสมัยราชวงศ์คองบอง

โบราณสถานในวัดเจ้าก์แส่ ตะโม๊ะ ชเวกูจี (Kyaukse Tamok Shwegu Gyi Temple) เป็นโบราณสถานสำคัญสมัยพุกาม ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๖ (1993) ซึ่งก่อนหน้านั้นเห็นแต่ยอดอยู่บนเนินเขา ผู้คนจึงเข้าใจว่าเป็นสถูปที่สร้างไว้บนยอดเขาธรรมดาทั่วไป ต่อมามีการพบฐานอิฐที่คาดว่าเป็นโครงสร้างของฐานสถูปอยู่บริเวณเชิงเขา จึงนำมาซึ่งการขุดสำรวจอย่างเป็นทางการใน พ.ศ. ๒๕๕๑ (2008) วัดเจ้าก์แส่ ตะโม๊ะ ชเวกูจี เป็นวิหารทรงปราสาทที่มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสแต่ละด้านกว้าง ๒๗ เมตร สร้างซ้อนทับกันสามชั้น วิหารองค์แรกสุดสร้างสมัยพุกามโดยพระเจ้าอโนรธามังช่อ (King Anawratha) พ.ศ. ๑๕๘๗-๑๖๒๐ (1044-1077) ต่อมาถูกสร้างครอบอีกชั้นในสมัยพระเจ้านรปติสีตู่ (King Narapatisithu) พ.ศ. ๑๗๑๖-๑๗๕๓ (1173-1210) และสร้างครอบอีกเป็นชั้นที่ ๓ ในสมัยอาณาจักรปินยา (Pinya dynasty) โดยพระเจ้าอุษาณะ (King Uzana) พ.ศ. ๑๘๖๗-๑๘๘๖ (1324-1343) ผลการขุดสำรวจเผยให้เห็นวิหารสองชั้นแรกเป็นสถาปัตยกรรมสมัยพุกามที่อยู่ในสภาพสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่มีอยู่

เส้นทางนำชมในทัศนศึกษาครั้งนี้มิได้อยู่ในเส้นทางการท่องเที่ยวหลักของพม่า เนื่องจากการเดินทางยากลำบากจึงไม่ค่อยมีคนได้ไปชมนัก แต่ด้วยความสำคัญด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีที่เป็นไปตามนโยบายหลักของมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์ ว่าด้วยการสนับสนุน #ความรู้ใหม่ความคิดใหม่ ทั้งในศิลปะไทยและประเทศเพื่อนบ้าน จึงเห็นควรจัดกิจกรรมพาท่านผู้สนใจไปเยี่ยมชมทัศนศึกษาครั้งนี้

.......................

กำหนดการทัศนศึกษา ๑๔-๑๖ กุมภา ๒๕๖๓

วันศุกร์ที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๐.๐๐ น. พร้อมกันที่สนามบินดอนเมืองเพื่อเช็คอิน

๑๑.๑๐ น. ออกเดินทางจากท่าอากาศยานไปสนามบินมัณฑะเลย์โดยสายการบินแอร์เอเชีย รับประทานอาหารกลางวันบนเครื่องบิน

๑๒.๒๕ น. ถึงเมืองมัณฑะเลย์

๑๓.๐๐ น. เดินทางจากมัณฑะเลย์ไปอังวะ (ใช้เวลาประมาณ ๓๐ นาที)

๑๓.๓๐ น. เยี่ยมชมโบราณสถานร้างในเมืองอังวะ

๑๔.๐๐ น. เดินทางจากอังวะไปสะกาย (Sagaing) (ใช้เวลาประมาณ ๑ ชั่วโมง)

๑๕.๐๐ น. เยี่ยมชมวัดมหาเตงดอจี (Maha Thein Tae Gui)

๑๕.๓๐ น. เดินทางจากสะกายไปเมืองโมนยวา (Monywa) (ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง)

๑๘.๓๐ น. ถึงโมนยวา เช็คอินที่โรงแรมโมนยวา รับประทานอาหารค่ำที่โรงแรม

.............

วันเสาร์ที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๐๘.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม

๐๙.๐๐ น. ออกเดินทางจากโมนยวาไปชมถ้ำโพวินต่อง (Po Win Taung Caves) (ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๑ ชั่วโมง ๒๐ นาที)

๑๐.๒๐ น. เยี่ยมชมหมู่ถ้ำโพวินต่อง

๑๑.๑๕ น. ออกเดินทางจากโพวินต่องไปหมู่บ้านพะยาจี (Phaya Gyi Village) (ใช้เวลาประมาณ ๒ ชั่วโมง ๔๕ นาที) รับประทานกลางวันบนรถ

๑๔.๐๐ น. ถึงหมู่บ้านพะยาจี เข้าชมพิพิธภัณฑ์คองบอง (Konbaung Museum) เยี่ยมชมพระเจดีย์มหาโลกามาราเซียน (Maha Lawka Marazein Pagoda) ที่มาของภาพสลักรามายณะ ๓๔๗ ภาพ

๑๕.๐๐ น. ออกเดินทางจากหมู่บ้านพะยาจีไปมัณฑะเลย์ (ใช้เวลาประมาณ ๓ ชั่วโมง ๓๐ นาที)

๑๘.๓๐ น. รับประทานอาหารค่ำแบบพม่าที่ภัตตาคารมินกาลาบา
(Mingalar bar & restaurant)

๒๐.๐๐ น. ชมนาฏศิลป์โยเดีย (Yodaya dance) ที่โรงเรียนสอนศิลปะของเอกชน

๒๑.๓๐ น. เช็คอินเข้าพักที่โรงแรมมัณฑะเลย์

.............

วันอาทิตย์ที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๐๘.๐๐ น. รับประทานอาหารเช้าที่โรงแรม

๐๙.๐๐ น. เช็คเอาท์ออกเดินทาง

๑๐.๐๐ น. ชมวัดเจ้าก์แส่ ตะโม๊ะ ชเวกูจี (Kyaukse Tamok Shwegu Gyi Temple) โบราณสถานสำคัญสมัยพุกาม

๑๑.๐๐ น. ออกเดินทางไปสนามบินมัณฑะเลย์ (Mandalay International Airport) มีแซนวิชบริการบนรถ

๑๑.๕๕ น. ถึงสนามบินมัณฑะเลย์เช็คอินที่เคาน์เตอร์แอร์เอเชีย

๑๒.๕๕ น. ออกเดินทางไปสนามบินดอนเมือง รับประทานอาหารกลางวันบนเครื่องบิน

๑๕.๒๐ น. ถึงสนามบินดอนเมืองโดยสวัสดิภาพ


Location Details


Thammasat University - Tha Prachan Campus

LOCATION

2 Prachan Rd., Phra Borom Maha Ratchawang, Pranakorn Bangkok, 10200 Thailand

VIEW MAP