Sawang Sawai Siwilai Zipevent

Sawang Sawai Siwilai

30 Apr - 30 May 2021
10:00 - 22:00 (UTC+7)
Central embassy

Event Information


เทศกาลศิลปะ “สว่างไสว ศิวิไล”

SAWANG SAWAI SIWILAI

ท่ามกลางสถานการณ์แห่งความท้าทายและบททดสอบครั้งสำคัญที่ชาวไทยและผู้คนทั่วโลกต้องเผชิญ นำมาสู่การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผู้คนตระหนักว่าเราต้องใส่ใจตนเอง รวมถึงสิ่งต่างๆ รอบตัวในชีวิตประจำวันที่เราอาจมองข้ามความสำคัญหรือหลงลืมไป ไม่ว่าจะเป็น ศิลปะ ดนตรี อาหาร ความรู้ การพูดคุยแลกเปลี่ยนทัศนคติที่ดีระหว่างกัน ฯลฯ เหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจของมนุษย์ เวลานี้ใกล้ถึงวันปีใหม่ไทย นับเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้เริ่มต้นในการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ตลอดจนวิธีการรับมือต่อทุกการเปลี่ยนแปลงอย่างสร้างสรรค์
ด้วยเหตุนี้ เทศกาลศิลปะ “สว่าง ไสว ศิวิไล” (SAWANG SAWAI SIWILAI) การรวมตัวของศิลปะและวัฒนธรรมหลากหลาย พร้อมปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์แก่ชุมชน สู่การใช้ชีวิตในทุกวันอย่างมีคุณค่า เทศการศิลปะนี้จากความตั้งใจของ SIWILAI ที่จะใช้พลังของศิลปะในการจุดประกายความหวังและสร้างกำลังใจให้กับผู้คนในสังคม เพื่อให้สามารถก้าวต่อไปข้างหน้า โดยมุ่งหวังเป็นสื่อกลางในการเชื่อมโยงผู้คนให้ได้มาพบปะ เรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิด ได้สัมผัสประสบการณ์ทางศิลปะ และร่วมกิจกรรมที่น่าสนใจมากมายด้วยตนเอง อาทิ นิทรรศการเสวนา เวิร์กช็อป งานดนตรี อาร์ตทัวร์ อาร์ตมาร์เก็ต และอีเวนต์อาหารโดยศิลปินและเชฟชื่อดัง 

พบกับเทศกาลศิลปะ สว่าง ไสว ศิวิไล ได้ที่ : ศิวิไล สโตร์, ศิวิไล คาเฟ่, ศิวิไล ซิตี้ คลับ, ศิวิไล ซาวด์ คลับ, บริเวณด้านหน้าและภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี และ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์

SIWILAI ยังสนับสนุนศิลปินให้แสดงออกทางความคิดอย่างเสรี สะท้อนมุมมองจากสถานการณ์ปัจจุบัน ผ่านผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีศิลปินต่างรุ่นทั้งศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก และศิลปินรุ่นใหม่ที่มีผลงานเป็นที่น่าจับตามองเข้าร่วมแสดงผลงานด้วย 

เกี่ยวกับศิลปิน 

1. ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช (Rirkrit Tiravanija)

ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช  เกิด พ.ศ. 2504 บัวโนสไอเรส อาร์เจนตินา อาศัยและทำงานอยู่ระหว่าง นิวยอร์ก เบอร์ลิน และเชียงใหม่
เขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในฐานะศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในรุ่นของเขา นอกจากจะเป็นผู้ชนะรางวัล Hugo Boss ประจำปี พ.ศ. 2547 ที่มอบโดยพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์แล้ว เขายังได้รับรางวัล Benesse จากพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยนาโอชิมะ ประเทศญี่ปุ่น และรางวัล Lucelia สำหรับศิลปินจากพิพิธภัณฑ์สมิธโซเนียนศิลปะอเมริกัน
 
ผลงานของเขาท้าทายคำอธิบายลักษณะงานที่ใช้สื่อเป็นหลัก งานศิลปะของเขาผสมผสานการสร้างวัตถุแบบดั้งเดิม การแสดงทั้งแบบสาธารณะและแบบส่วนตัว การสอน ตลอดจนการบริการสาธารณะและการกระทำทางสังคมในรูปแบบอื่น ๆ ฤกษ์ฤทธิ์มีผลงานจัดแสดงแพร่หลายทั้งใน พิพิธภัณฑ์ แกลเลอรี่ต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึง Bangkok Art Biennale (พ.ศ. 2563), Venice Biennale (พ.ศ. 2558), Sharjah Biennale ครั้งที่ 8 (พ.ศ. 2558) และ Gwangju Biennale ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2555) ทั้งยังเคยจัดแสดงนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะสมัยใหม่ (MoMA) และ พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ ที่นิวยอร์ก พิพิธภัณฑ์ศิลปะไรนา โซเฟีย ที่มาดริด พิพิธภัณฑ์ศิลปะลอสแอนเจลิสเคาน์ตี และมูลนิธิลูมา ที่อาร์ลอีกด้วย
 
ปัจจุบัน ฤกษ์ฤทธิ์เป็นอาจารย์สอนด้านศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และเป็นผู้ก่อตั้งและภัณฑารักษ์ของโครงการยูโทเปียสเตชัน โดยทำงานร่วมกับศิลปิน นักประวัติศาสตร์ศิลป์ และภัณฑารักษ์ นอกจากนี้เขายังเป็นประธานมูลนิธิที่นา (The Land Foundation) ซึ่งเป็นโครงการด้านการศึกษาเชิงนิเวศน์ที่จังหวัดเชียงใหม่
 
> พบกับผลงานของ คุณฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช ได้ ณ ศิวิไล คาเฟ่ และศิวิไล ซิตี้ คลับ
 
2. ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ (Thaiwijit Puengkasemsomboon)
 
 
ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ เกิด พ.ศ. 2502 ที่ ปัตตานี อาศัยและทำงานอยู่ที่ เชียงใหม่ เขาจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2527 และไปศึกษาต่อด้านภาพพิมพ์ที่ Akademia Sztuk Pieknych, Krakow ประเทศโปแลนด์ ในปี พ.ศ. 2528 ไทวิจิตเป็นที่รู้จักแพร่หลายด้วยผลงานจิตรกรรมแนวนามธรรมอันโดดเด่นด้วยสีสันสดใส สนุกสนาน ฝีแปรงอิสระเต็มไปด้วยความเคลื่อนไหว บนวัสดุอันหลากหลายไม่ว่าจะเป็นผืนผ้าใบ แผ่นไม้ โลหะ ไปจนถึงผ้ากระสอบและกระดาษลัง นอกจากนี้เขายังสร้างสรรค์ผลงานสามมิติรูปทรงแปลกตาที่เป็นได้ทั้งประติมากรรมและงานดีไซน์ที่มีฟังก์ชันการใช้สอย ซึ่งประกอบสร้างขึ้นจากวัสดุเหลือใช้อย่างท่อเหล็ก ตะแกรงลวด เหล็กดัด เศษไม้ ปูนซีเมนต์ หรือเศษชิ้นส่วนของอุปกรณ์ เครื่องจักร หรือเฟอร์นิเจอร์เก่า จนกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นเฉพาะตัว
 
ไทวิจิต มีนิทรรศการแสดงเดี่ยวและกลุ่มทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, เยอรมนี, อิตาลี, โปแลนด์, ออสเตรเลีย และ ฮ่องกง ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 เขามีนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งใหญ่ใช้ชื่อว่า The Left Over ซึ่งผลงานทั้งหมดสร้างขึ้นจากวัสดุเก็บตกเหลือใช้ โดยมีศิลปิน ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช เป็นภัณฑารักษ์คัดสรรผลงาน จัดแสดงที่ Gallery VER และ ARTIST+RUN ที่กรุงเทพฯ และในปีเดียวกันเขาร่วมแสดงผลงานในงาน Bangkok Art Biennale 2020
 
> พบกับผลงานของ คุณไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ ได้ ณ ศิวิไล คาเฟ่ และศิวิไล ซิตี้ คลับ
 
3. มิตร ใจอินทร์ (Mit Jai Inn)
 
 
มิตร ใจอินทร์ ศึกษาด้านศิลปะที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างปี พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2529 และที่มหาวิทยาลัยประยุกต์ศิลป์เวียนนา ประเทศออสเตรีย ระหว่างปี พ.ศ. 2531 ถึง พ.ศ. 2535 เมื่อเดินทางกลับมายังเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2535 เขาได้ร่วมก่อตั้งงานเทศกาล เชียงใหม่จัดวางสังคม ร่วมกับกลุ่มศิลปิน นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ในปี พ.ศ. 2558 เขาก่อตั้ง Cartel Artspace ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพื้นที่ศิลปะเพื่อให้ศิลปินสามารถนำเสนอผลงานสะท้อนบริบททางประวัติศาสตร์และบริบทปัจจุบันของไทยและภูมิภาคอุษาคเนย์
 
มิตรท้าทายขอบเขตของงานจิตรกรรมแบบจารีต ด้วยการนำเสนอประวัติศาสตร์และวิธีการใช้สื่อ ทั้งการผสมสี การทาสีซ้อนทับหลายชั้น และการกัดเซาะสีโดยวิธีการทำซ้ำอย่างแม่นยำ เขาไม่คำนึงถึงวิธีการดั้งเดิมในการจัดแสดงงานจิตรกรรม ผลงานของเขาไม่ใส่กรอบขึงตึง ส่วนใหญ่มีสองด้าน สามารถจับต้องได้ และมักปรากฎเป็นม้วนผ้าใบผืนยาวที่คลี่คลุมบนพื้น หรือแขวนห้อยลงมาพาดผ่านผนัง ปฏิบัติการทางศิลปะของเขาเป็นการเพ่งพิจารณาเกี่ยวกับแสงและเวลา โดยผลงานแต่ละชิ้นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสถานที่ที่สร้างงาน
 
มิตรมีผลงานจัดแสดงนิทรรศการในต่างประเทศ อาทิ The King and I ที่ TKG+ ไทเป (พ.ศ. 2563), Actants ที่ Silverlens มะนิลา (พ.ศ. 2562), Encounters, Art Basel ฮ่องกง (พ.ศ. 2562), Biennale of Sydney ครั้งที่ 21 (พ.ศ. 2561), SUNSHOWER: Contemporary Art in Southeast Asia from 1980s to Now ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะโมริ ญี่ปุ่น (พ.ศ. 2560) และ พิพิธภัณฑ์ศิลปะเกาสง ไต้หวัน (พ.ศ. 2562)
 
> พบกับผลงานของ คุณมิตร ใจอินทร์  ได้  ณ ศิวิไล ซิตี้ คลับ
 
4. กรกฤต อรุณานนท์ชัย
 
 
กรกฤต อรุณานนท์ชัย เกิด พ.ศ. 2529 ที่ กรุงเทพฯ ทำงานอยู่ระหว่าง นิวยอร์ก และ กรุงเทพฯ ในฐานะศิลปิน นักสร้างภาพเคลื่อนไหว และนักเล่าเรื่อง กรกฤต อรุณานนท์ชัย ใช้ทักษะรอบตัว เล่าเรื่องราวที่ฝังอยู่ในความคิดเรื่องการถ่ายเททางวัฒนธรรมและความเป็นลูกผสม ผลงานของกรกฤต ผสานเรื่องแต่งเข้ากับบทกวี เพื่อสร้างประสบการณ์บนสุนทรียศาสตร์ที่ร้อยรวมกันร่วมกับมวลมหาศาล ของตัวตนที่มีเค้าโครงจากครอบครัว มิตรสหาย และเพื่อนร่วมงาน พอๆ กับการอ้างอิงเรื่องเล่าปรัมปรา จากท้องถิ่น กรกฤตข้ามพ้นความคิดเรื่องการเป็นศิลปินโดดเดี่ยวมาสู่การทำงานร่วมกับผู้คนมากมายในการสร้างงานวิดีโอ การแสดงสด และดนตรี ผลงานชิ้นแรกในซีรีส์วิดีโอของเขาชื่อ 2012-2555 เกิดขึ้นจากแนวคิด เรื่องความตาย การเกิดใหม่ และกระบวนการสร้างเรื่องเล่าทางเวลา ผลงานชุดนี้ได้จัดแสดงที่ MoMA PS1 นิวยอร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2557 ต่อมาเขาได้ทำงานร่วมกับกรภัทร์ อรุณานนท์ชัย พี่ชายฝาแฝด, บอยไชลด์ และอเล็กซ์ กวอจิค สร้างผลงานการแสดงสดซึ่งเป็นส่วนประกอบในงานวิดีโอจัดวางชิ้นแรกนี้ เพื่อแสดงในโปรแกรม Sunday Sessions ที่ MoMA PS1 ในปี พ.ศ 2558 กรกฤตแสดงผลงานชื่อ วาดภาพกับประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนทีมี่ชื่อตลกๆ 3 ที่ Palais de Tokyo ปารีส
 
ในปี พ.ศ. 2561 กรกฤตร่วมก่อตั้ง Ghost Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไร เพื่อสนับสนุนซีรีส์วิดีโอและศิลปะการแสดงสดในประเทศไทยภายใต้ชื่อ GHOST โดยเขาเป็นภัณฑารักษ์ในการจัดงานครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ในชื่อ Ghost:2561 กรกฤตยังเข้าร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะนานาชาติ ได้แก่ Venice Biennale ครั้งที่ 58 (พ.ศ. 2562) และ Dhaka Art Summit ที่ธากา บังคลาเทศ (พ.ศ. 2563)
 
> พบกับผลงานของ คุณกรกฤต อรุณานนท์ชัย ได้ ณ เซ็นทรัล: ดิ ออริจินัล สโตร์
 
5. หริธร อัครพัฒน์ 
 
 
หริธร อัครพัฒน์ เกิด พ.ศ. 2504 กรุงเทพฯ อาศัยและทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่ หริธร อัครพัฒน์ ศึกษาด้านประติมากรรมที่คณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร ในฐานะประติมากร เขาใช้รูปทรงและรูปร่างกายที่ให้ความรู้สึกอิสระอย่างล้นพ้นในการกำหนดภาพแทนของตำนานปรัมปราที่มีทั้งความเป็นส่วนตัวและมีรากฐานมาจากประเพณีทางพุทธศาสนา
 
ประติมากรรมสำริดของหริธรมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น เขามักสำรวจเทคนิควิธีการใหม่ๆ ในการทำงานประติมากรรมสำริดที่มีรอยคร่ำบนพื้นผิว กระบวนการทำงานของเขาที่ลดทอนรูปทรงงานประติมากรรมจนถึงจุดที่เป็นนามธรรมซึ่งท้ายที่สุดแล้วอยู่ในรูปแบบของความบริสุทธิ์และความสมดุลที่ยิ่งใหญ่ ถือได้ว่าเป็นวิธีการทำสมาธิซึ่งเป็นการไตร่ตรองความคิดภายในของเขา รอยประทับของเวลาไม่เพียงแต่แสดงถึงการค้นหาเชิงวิวัฒนาการสำหรับรูปแบบที่บริสุทธิ์ แต่ยังเน้นถึงความซับซ้อนของความคิด และน้ำหนักทางอารมณ์ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงาน
 
หริธรมีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการกลุ่มมากมายทั้งในเอเชียและยุโรปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เขายังแสดงนิทรรศการเดี่ยว ได้แก่ Path of Redemption ที่ Gallery Seescape เชียงใหม่ (พ.ศ. 2555), Lapse of Memory ที่ Tang Contemporary Art กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2552) และ Sajja-Patima ที่ 100 ต้นสนแกลเลอรี่ กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2547) เขาได้รับมอบหมายให้สร้างประติมากรรมสำริดในพื้นที่สาธารณะที่สำคัญหลายชิ้น ทั้งในวัดและพื้นที่ในเมืองของกรุงเทพฯ รวมถึงประติมากรรมบนเกาะเสม็ด

> พบกับผลงานของ คุณหริธร อัครพัฒน์ ได้ ณ บริเวณด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี
 
6. เอจิ ซูมิ
 
 
เอจิ ซูมิ เกิด พ.ศ. 2513 โตเกียว อาศัยและทำงานอยู่ที่ กรุงเทพฯ เอจิ ซูมิ ย้ายจากโตเกียวไปนิวยอร์กในปี พ.ศ. 2537 ซึ่งเขาได้สร้างผลงานศิลปะไม่เพียงแต่เหมาะกับการจัดแสดงภายในพื้นที่ห้องสี่เหลี่ยมสีขาว (white cube) เท่านั้น แต่ยังจัดแสดงในพื้นที่ในเมืองอีกด้วย โดยใช้มัลติมีเดียแบบออปติคัลและการผสานสาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน ในปี พ.ศ. 2555 ซูมิย้ายมาที่กรุงเทพฯ และมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนนักสร้างสรรค์ไทยรุ่นใหม่ที่สาขาการออกแบบนิเทศศิลป์ หลักสูตรนานาชาติ (CommDe) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในขณะที่ผลงานของเขาปลุกให้เกิดความรู้สึกและขยายความรู้สึกทางกายภาพของผู้คนที่อาศัยอยู่ในมหานครต่างๆ เขาก็ได้เริ่มผสมผสานแนวปฏิบัติทางศิลปะกับวิทยาศาสตร์และประเด็นทางสังคม เข้ากับความรู้สึกสรรผสานของเขา
 
ซูมิ ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งในศิลปินผู้เข้ารอบสำหรับรางวัล Sovereign Asian Art พ.ศ. 2560 ที่ฮ่องกง และร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ All Possible Paths-Richard Feynman's Curious Life เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปีของริชาร์ด เฟยน์แมน นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลที่ ArtScience Museum สิงคโปร์ ในปี พ.ศ. 2561 ปัจจุบันเขาทำงานร่วมกับ Gallery VER ที่กรุงเทพฯ และเตรียมจะจัดแสดงผลงานที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย ที่คุมาโมโตะ ญี่ปุ่น และที่สิงคโปร์ อินโดนีเซีย สาธารณรัฐเช็ก และไทยในปี พ.ศ. 2564
 
> พบกับผลงานของ คุณเอจิ ซูมิ ได้ ณ ชั้น 2 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี
 
7. สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา
 
 
สุทธิรัตน์ ศุภปริญญา เกิด พ.ศ. 2516 ที่ เชียงใหม่ อาศัยและทำงานอยู่ที่ เชียงใหม่ สุทธิรัตน์ จบการศึกษาปริญญาตรีจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศึกษาต่อด้านสื่อศิลปะที่ Hochschule Fuer Grafik und Buchkunst ไลพ์ซิก เยอรมนี เธอสร้างผลงานศิลปะหลากหลายรูปแบบ ทั้งศิลปะจัดวาง ภาพถ่าย และภาพเคลื่อนไหว ผลงานของเธอตั้งคำถามและตีความข้อมูลสาธารณะและเผยให้เห็นโครงสร้างทางสังคมและการเมืองที่ส่งผลทั้งต่อตัวเธอและผู้ชมในฐานะพลเมืองของประเทศและของโลก ผลงานล่าสุดของเธอมุ่งเน้นไปที่ประวัติศาสตร์และผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตลอดจนผลกระทบต่อภูมิทัศน์
 
สุทธิรัตน์มีผลงานจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ได้แก่ หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน กรุงเทพฯ พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ พิพิธภัณฑ์ศิลปะกวนดู ไต้หวัน และเข้าร่วมแสดงในเทศกาลศิลปะนานาชาติ ได้แก่ Asia Pacific Triennial of Contemporary Art (APT) ครั้งที่ 10 (พ.ศ. 2564) บริสเบน ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย, Cairo Biennale ครั้งที่ 13 อียิปต์ (พ.ศ. 2562), Biennale Jogja XV Equator #5 ยอร์กยาการ์ตา อินโดนีเซีย (พ.ศ. 2562), Yebisu International Festival for Art & Alternative Visions โตเกียว (พ.ศ. 2555 และ พ.ศ. 2561), EVA International [Ireland's Biennial] ลิเมอร์ลิค ไอร์แลนด์, Gwangju Biennale ครั้งที่ 12 กวางจู เกาหลีใต้ (พ.ศ. 2561) ในฐานะสมาชิกของชุมชนศิลปะในเชียงใหม่ สุทธิรัตน์ได้ร่วมก่อตั้งและดำเนินการโครงการ Chiang Mai Art Conversation (CAC) ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2556 โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมศิลปะร่วมสมัยในเชียงใหม่ และในปี พ.ศ. 2654 เธอได้รับเลือกเป็นศิลปินในพำนักของโครงการ DAAD Artist-in-Berlin ที่เบอร์ลิน เยอรมนี เป็นระยะเวลา 1 ปี
 
> พบกับผลงานของ คุณสุทธิรัตน์ ศุภปริญญา ได้ ณ ศิวิไล ซิตี้ คลับ
 
8. ณัฐดนัย จิตต์บรรจง
 
 
ณัฐดนัย จิตต์บรรจง เกิด พ.ศ. 2534 กรุงเทพฯ อาศัยและทำงานอยู่ที่ กรุงเทพฯ ณัฐดนัย จิตต์บรรจง จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาทัศนศิลป์ จากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2559 ในฐานะนักปฏิบัติการศิลปะ เขามีความสนใจโครงสร้างอำนาจภายใต้บริบททางสังคมการเมือง โดยอาศัยปฏิบัติการทางศิลปะที่มุ่งเน้นการวิจัยและกระบวนการ ผลงานของเขานำเสนอวัตถุและวัสดุทางกายภาพโดยเน้นที่มิติทางประวัติศาสตร์ผนวกกับมุมมองสะท้อนจากส่วนตัวของเขาที่มีต่อโลกปัจจุบัน
 
ณัฐดนัยจัดแสดงนิทรรศการเดี่ยว ได้แก่ LOOT ที่ Gallery VER: Project Room กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2562), Coup d’Etat ใน BRANDNEW Art Project 2017 ที่ WTF Gallery and Café กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2560) นิทรรศการกลุ่มของเขา ได้แก่ Biennale Jogja XV - Equator # 5, ยอร์กยาการ์ตา อินโดนีเซีย (พ.ศ. 2562), BACC Early Years Project # 3: COEVAL หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2561); Khonkaen Manifesto ขอนแก่น (พ.ศ. 2560); 23 Degree “What stands if freedom fall? Who dies if Thailand live ที่ Buffalo Bridge Gallery กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2560), Freedom Spirit: Allegiance IV, Cartel Artspace, กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2560); Sunshine Philosophy ที่ 469 ถนนพระสุเมรุ กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2560)
 
> พบกับผลงานของ คุณณัฐดนัย จิตต์บรรจง ได้ ณ ศิวิไล ซิตี้ คลับ
 
9. อลิสา ฉุนเชื้อ 
 
 
อลิสา ฉุนเชื้อ  เกิด พ.ศ. 2534 กรุงเทพฯ อาศัยและทำงานอยู่ที่ กรุงเทพฯ อลิสา ฉุนเชื้อ จบการศึกษาปริญญาตรีสาขาประติมากรรม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2558 ผลงานของเธอมักอ้างอิงเหตุการณ์ในชีวิต ประสบการณ์ส่วนตัว และเรื่องราวในครอบครัวของเธอ อลิสาสำรวจร่างกายและตัวตนอย่างกว้างขวางผ่านการทำงานโครงการศิลปะมัลติมีเดียขนาดใหญ่จำนวนมาก ด้วยการมุ่งเน้นไปที่สภาพแวดล้อมทางประติมากรรม ผลงานของเธอจึงสำรวจภาษาของวัสดุและสสารซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของโลกทางกายภาพเพื่อขุดค้นแก่นแท้ที่เป็นเอกลักษณ์ วัสดุแต่ละชิ้นที่ถูกเลือกให้รวมอยู่ในผลงานของเธอนั้นมีทั้งที่เปราะบางหรือไม่จีรังรวมทั้งร่างกายที่มีชีวิตและโลหะผสม ผลงานของเธอเต็มไปด้วยการอ้างอิงหลายแง่มุมเกี่ยวกับกายภาพและอารมณ์แสดงถึงความเปราะบาง การวิจัยทางการแพทย์ ปฏิกิริยาเกี่ยวกับอวัยวะภายใน ความรู้สึก ข้อจำกัดทางกายภาพ และจินตนาการถึงความตาย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญในการทำงานศิลปะของเธอ
อลิสามีผลงานจัดแสดงในนิทรรศการกลุ่ม ได้แก่ Absurdity in Paradise, Museum Fridericianum คาสเซล เยอรมนี (พ.ศ. 2561), The Concept of Self: On Power, Identity and Labels SAC Subhashok The Arts Centre กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2560), BACC Early Years Project # 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2560) และเอเชียโทเปีย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2557)
 
พบกับผลงานของ คุณอลิสา ฉุนเชื้อ ได้ ณ ศิวิไล ซิตี้ คลับ
 
10. หฤษฎ์ ศรีขาว
 
 
หฤษฎ์ ศรีขาว เกิด พ.ศ. 2538 ปทุมธานี อาศัยและทำงานอยู่ที่ กรุงเทพฯ หฤษฎ์ ศรีขาว เริ่มถ่ายภาพเมื่ออายุ 13 ปีและได้รับเลือกให้เข้าร่วมเวิรค์ชอป Angkor Photo ที่จัดขึ้นโดย Antoine d'Agata ช่างภาพแม็กนั่มโฟโต้ชื่อดังชาวฝรั่งเศสเมื่ออายุ 16 ปี ในปี พ.ศ. 2555 เขาสร้างผลงานชุดแรกชื่อ Red Dream เกี่ยวกับการปราบปรามทางทหารในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2553 เขาสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาการถ่ายภาพและประยุกต์ศิลป์จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และปริญญาโทด้านการถ่ายภาพและการออกแบบภาพจาก Nuova Accademia Di Belle Arti (NABA ) มิลาน อิตาลี
 
หฤษฎ์มองว่าภาพถ่ายเป็นสื่อที่กำหนดวัฒนธรรม การทำงานศิลปะของเขาแสดงให้เห็นถึงความสามารถของภาพถ่ายทั้งในการสื่อถึงอำนาจทางประวัติศาสตร์และทำหน้าที่เป็นโฆษณาชวนเชื่อในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงการเมืองในยุคนั้นด้วย เขามุ่งที่จะท้าทายระบบที่เป็นตัวควบคุมให้ผู้คนเข้าใจตนเองและมีมุมมองต่อผู้อื่นและโลก ผลงานของเขาผสมผสานระหว่างเรื่องแต่งและความเป็นจริง สำหรับเขาการถ่ายภาพเป็นเครื่องมือในการชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงที่ยังไม่ถูกเปิดเผยจากการถ่ายภาพสารคดี
 
หฤษฎ์มีผลงานจัดแสดงทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ Absurdity in Paradise, Museum Fridericianum คาสเซล เยอรมนี (พ.ศ. 2561), Asia Pacific Triennial of Contemporary Art (APT) ครั้งที่ 9 (พ.ศ. 2562) บริสเบน ควีนส์แลนด์ ออสเตรเลีย และ Whitewash, Gallery VER, กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2560)
 
> พบกับผลงานของ คุณหฤษฎ์ ศรีขาว ได้ ณ ศิวิไล สโตร์
 
11. ณัฐพล สวัสดี
 
 
ณัฐพล สวัสดี เกิด พ.ศ. 2532 กรุงเทพฯ อาศัยและทำงานอยู่ที่ กรุงเทพฯ ณัฐพล สวัสดี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านทัศนศิลป์จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในปี พ.ศ. 2556 ผลงานชิ้นแรกๆ ของเขามุ่งเน้นไปที่บริบททางสังคมการเมืองและวัฒนธรรมของประเทศไทย โดยมักจะเล่นกับสัญญะและสัญลักษณ์ที่อาจส่งผลต่อความเชื่อและจิตสำนึกของคนในสังคม ต่อมาผลงานของเขาได้หันเหไปสู่เรื่องค่านิยมและความเชื่อส่วนบุคคลมากขึ้นในขณะที่ยังคงเกี่ยวข้องกับประเด็นทางสังคมในปัจจุบัน เขาทำงานกับสื่อที่หลากหลายทั้งภาพยนตร์ เสียง งานศิลปะจัดวาง และการแสดง
 
ณัฐพลได้เข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการกลุ่ม ได้แก่ Absurdity in Paradise คาสเซล เยอรมนี (พ.ศ. 2561), Two men look out through the same bars: one sees the mud, and one the stars # 2 WTF Gallery กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2560); TO WHOM IT MAY CONCERN, Bangkok CityCity Gallery, กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2560), นิทรรศการ Mutual Unknown หอศิลป์แห่งชาติอินโดนีเซีย จาการ์ตา อินโดนีเซีย (พ.ศ. 2560); Shuffling Space จัดโดย มูลนิธิญี่ปุ่น ที่ Gallery Seescape เชียงใหม่ (พ.ศ. 2558) และ CROSS STITCH หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2556)
 
> พบกับผลงานของ คุณณัฐพล สวัสดี ได้ ณ ศิวิไล ซิตี้ คลับ
 
12. สะรุจ ศุภสุทธิเวช
 
 
สะรุจ ศุภสุทธิเวช เกิด พ.ศ. 2543 กรุงเทพฯ อาศัยและทำงานอยู่ที่ กรุงเทพฯ สะรุจ ศุภสุทธิเวช สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีสาขาศิลปะสื่อผสม จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2558 เขาให้ความสนใจกับประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) และเรื่องเล่าส่วนตัวเกี่ยวกับสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เคยมีการบันทึกมาก่อน เขามักจะเปลี่ยนสสารที่เหลืออยู่ในสถานที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ให้เป็นภาพเคลื่อนไหว รูปทรงร่างกาย และเสียงในผลงานศิลปะจัดวางของเขา
 
สะรุจ ได้เข้าร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการกลุ่ม ได้แก่ ᘐ (Qi) ที่ Nova Contemporary กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2564), Footnotes on Institution ที่ Gallery VER กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2562), ThaiTai Re-conversation: Based on True Story, About Photography กรุงเทพฯ (พ.ศ. 2561), BACC Early Years Project # 2 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2560) และ พิพิธภัณฑ์เฉพาะกาล (กรณีศึกษาชุมชนหนองโพ) ราชบุรี (พ.ศ. 2557)
 
> พบกับผลงานของ คุณสะรุจ ศุภสุทธิเวช ได้ ณ ศิวิไล ซิตี้ คลับ
 

Location Details


Central embassy

LOCATION

1031 Phloen Chit Rd, เเขวง ปทุมวัน Pathum Wan District, Bangkok 10330 Bangkok, 10330 Thailand

VIEW MAP