สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง Zipevent

สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง

18 - 19 Jan 2020
13:30 - 22:00 (UTC+7)
Thammasat University - Tha Prachan Campus

Event Information


#สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
รัฐประหาร • ความชอบธรรม • พิธีกรรม • ศิลปะ

วิทยากร: พิชญา สุ่มจินดา

18-19 มกราคม 2563
ท่านสามารถเลือกร่วมงานวันหนึ่งวันใดได้ตามอัธยาศัย

วันเสาร์ที่ 18 มกราคม 2563
เวลา 13.30 - 16.00 น.
ฟังบรรยายพิเศษ (ฟรี) ณ ห้อง 107 (ริมน้ำ) คณะศิลปศาสตร์ มธ.ท่าพระจันทร์

สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเป็นขุนนางที่กระทำรัฐประหารขึ้นครองราชย์ได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ไม่เหมือนรัฐประหารก่อนหน้าซึ่งเป็นการปราบดาภิเษกของบรรดาพระบรมวงศานุวงศ์ จึงทรงประสบปัญหาด้านความชอบธรรม ดังนั้นแม้ในด้านการเมืองการปกครอง สมเด็จพระเจ้าปราสาททองจะ “ทรงมีคุณสมบัติเพียบพร้อมทุกประการที่จำเป็นสำหรับการครองราชย์ที่ดี...มีคุณวุฒิของกษัตริย์โดยแท้จริง” แต่ “พระองค์ไม่มีฐานันดรศักดิ์ที่จะสืบราชสมบัติ” (ฟาน ฟลีต 2548, 274) ประกอบกับรัชกาลของพระองค์เต็มไปด้วยเหตุการณ์ไม่เป็นมงคล เช่น พระมหาธาตุถล่ม ช้างเผือกล้ม ไฟไหม้พระนครครั้งใหญ่ ล้วนบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชน เพื่อพิสูจน์ความชอบธรรมและบุญญาบารมีว่าพระองค์เป็นผู้ควรแก่การขึ้นครองราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้าปราสาททองได้ทรงดำเนินพระราชกุศโลบาย 3 ประการ ปรากฏหลักฐานทั้งในพระราชพงศาวดาร คำให้การ บันทึกของชาวต่างชาติ และวรรณกรรมเฉลิมพระเกียรติ ว่าพระองค์ได้ประกอบพิธีกรรมและสร้างเจติยสถาน ตามความเชื่อภายใต้บัญญัติของคัมภีร์พุทธศาสนาและกฎมณเฑียรบาล ดังนี้
ประการที่ 1 ทรงสืบสันตติวงศ์จากกษัตริย์กัมพูชาโบราณ
ประการที่ 2 ทรงเป็นพระโพธิสัตว์และพระอนาคตพุทธเจ้า
ประการที่ 3 ทรงประกอบพระราชพิธีอินทราภิเษก

รับผู้สนใจฟังการบรรยาย 100 ท่าน

กำหนดการ
13.30 น. ลงทะเบียน
14.00 น. เริ่มการบรรยาย
15.45 น. ซักถาม
16.00 น. สิ้นสุดการบรรยาย

หมายเหตุ: มีหนังสือเรื่อง #สมเด็จพระเจ้าปราสาททอง
รัฐประหาร • ความชอบธรรม • พิธีกรรม • ศิลปะ
และหนังสือวิชาการของมูลนิธิฯ จำหน่ายที่หน้างาน


วันอาทิตย์ที่ 19 มกราคม 2563
เวลา 06.30 - 22.00 น.
ทัศนศึกษาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
(ลงทะเบียน 2,800.- บาท)

กำหนดการ

06.30 น. นัดพบกันขึ้นรถบริเวณทางออก MRT สุขุมวิท ประตู 1 ใกล้สยามสมาคมฯ

07.00 น. ออกเดินทางไป จ.อยุธยา บริการอาหารเช้าบนรถ
วิทยากรกล่าวต้อนรับคณะทัวร์ อธิบายความสำคัญจุดนำชมว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องราวการสร้างความชอบธรรมในการครองราชย์ของสมเด็จพระเจ้าปราสาททองอย่างไร

09.00 น. ถึงอยุธยา ชม ร่องรอยพระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์ ที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างและพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งศิริยศโสธรพิมานบรรยงก์” ให้สอดคล้องกับนามของเมืองยโสธรปุระราชธานีของกัมพูชา ต่อมาเมื่อทรงพระสุบินว่าพระอินทร์เสด็จลงมารับสั่งเป็นความนัยให้ทรงตั้งจักรพยุหะเป็นพิชัยสงครามจึงทรงเปลี่ยนนามเป็น “พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์” ภายหลังได้ทรงประกอบพระราชพิธีอินทราภิเษกที่พระที่นั่งองค์นี้ พระที่นั่งจักรวรรดิไพชยนต์เป็นพระที่นั่งตรีมุข ปัจจุบันเหลือเพียงฐาน ด้านหน้ามีฐานเบญจาประดับปูนปั้นรูปครุฑแบก สิงห์แบก สร้างขึ้นตามแบบฐานพลับพลาจำหลักรูปครุฑแบก สิงห์แบก หน้าประตูพระราชวังหลวงเมืองพระนคร สะท้อนนัยการสืบสันตติวงศ์จากกษัตริย์กัมพูชาโบราณ

จากนั้นชมศิลปกรรมใน วัดพระศรีสรรเพชญ เลือกชมเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมในสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้แก่ ปูนปั้นครุฑแบกสิงห์แบกที่ฐานชุกชีใน "พระวิหารหลวง" ด้านหน้าพระศรีสรรเพชญเคยเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป 3 องค์ที่นิยมสร้างในรัชกาลของพระองค์และรัชกาลต่อมา ชมส่วนที่เหลืออยู่ของปูนปั้นครุฑแบกสิงห์แบกขนาดใหญ่ที่ฐาน “พระมณฑป” หลังกลางระหว่างพระเจดีย์ประธานสามองค์ เป็นประจักษ์พยานของงานช่างตามแบบอย่างศิลปะกัมพูชาก่อนจะถูกครอบไว้ด้วยฐานพระมณฑปใหม่ในการบูรณปฏิสงขรณ์สมัยต่อมา จากนั้นชม "พระวิหารพระปาลิไลยก์" ที่แต่เดิม สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างเป็นมณฑปเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ด้วยความเชื่อว่าพระองค์เคยเสวยพระชาติเป็นช้างปาลิไลยก์ปรนนิบัติพระพุทธเจ้า

จากนั้นชม วัดมงคลบพิตร ที่อยู่ใกล้กัน มีนามเดิมว่า “วัดสุมงคลบพิตร” นมัสการ “พระมงคลบพิตร” หรือมีพระนามอย่างเป็นทางการว่า “พระสยมภูวญาณโมฬี” ภายในพระวิหาร ซึ่งแต่เดิมเป็นพระมณฑปที่สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างถวายหลังจาก ชะลอพระพุทธรูปองค์นี้มาจากวัดพระชีเชียงของสมเด็จพระชัยราชาธิราชซึ่งโปรดให้รื้อลงทั้งวัด เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้กับพระพุทธรูปองค์นี้ว่าเปรียบได้กับพระอนาคตพุทธเจ้า ในฐานะที่ พระองค์จะทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตพระนามว่าพระสุมังคลพุทธเจ้า กระทั่งพระมณฑปเกิดไฟไหม้ในรัชกาลต่อมาจึงได้แปลงเป็นพระวิหาร บริเวณหน้าพระวิหารพระมงคลบพิตรเยื้องไปด้านทิศใต้ยังเคยใช้เป็นที่สร้าง "พระเมรุกลางเมือง" ซึ่งน่าจะเริ่มขึ้นในรัชกาลของพระองค์ เพื่อพิสูจน์พระบุญญาบารมีหลังสวรรคตว่าทรงเปรียบได้กับพระอนาคตพุทธเจ้า

12.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน (บุฟเฟต์) ที่โรงแรมกรุงศรีริเวอร์

13.00 น. เดินทางไป อ.นครหลวง เพื่อชม "ปราสาทนครหลวง" สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างขึ้นเป็นพระราชมณเฑียรที่ประทับฤดูร้อน เดิมเชื่อว่าสร้างเลียนแบบปราสาทนครวัด แต่ปัจจุบันเชื่อว่าถ่ายจำลองและปรับปรุงแบบจากปราสาทบาปวนใกล้กับพระราชวังหลวงเมืองพระนครที่สร้างขึ้นในรัชกาลพระเจ้าอุทยาทิตวรมันที่ 2 ประกอบด้วยเมรุทิศยอดปรางค์เชื่อมต่อกับระเบียงคดบนฐานซ้อนลดหลั่นกัน 3 ชั้น รวม 28 ยอด บนสุดเคยเป็นที่ตั้งของปราสาทที่อาจมี 5 ยอด รวมทั้งหมด 33 ยอด อันมีความหมายถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์และทวยเทพบริวารอีก 32 องค์ ปัจจุบันปราสาทชั้นบนสร้างใหม่เป็นพระมณฑปพระพุทธบาท ร่วมค้นหาว่าเหตุใดจึงเลือกจำลองปราสาทบาปวนแทนที่จะจำลองปราสาทนครวัดที่ใหญ่โตและน่าจะมีความสาคัญกว่า

14.30 น. เดินทางกลับไปยัง อ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อชม "วัดหน้าพระเมรุ" สันนิษฐานว่าสมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงสร้างเป็นพระอารามขนาดใหญ่แต่ไม่ทันเสร็จก็สิ้นรัชกาล พระราชโอรส คือสมเด็จพระนารายณ์จึงทรงปฏิสังขรณ์ต่อจนแล้วเสร็จ ชมความงดงามของพระพุทธรูปทรงเครื่องใหญ่ปางมารวิชัยภายในพระอุโบสถ พระพุทธรูปทรงเครื่องหล่อสัมฤทธิ์ขนาดใหญ่ที่สุดในศิลปะอยุธยาที่น่าจะมีนัยสื่อถึงสมเด็จพระเจ้าปราสาททองในฐานะที่ทรงเป็นทั้งพระอนาคตพุทธเจ้าและพระเจ้าจักรพรรดิ จากนั้นชม “พระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทสลักศิลา” ที่เชิญมาจากวัดพระเมรุ จ.นครปฐม เคยประดิษฐานที่วัดมหาธาตุก่อนจะได้รับการเชิญมาประดิษฐานใน “พระวิหารน้อย” ของวัดหน้าพระเมรุ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นแบบให้กับการสร้างพระพุทธรูปปางปาลิไลยก์ ในรัชกาลของพระองค์ซึ่งเริ่มสร้างเป็นพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาทเช่นกัน

16.00 น. เดินทางไป "วัดไชยวัฒนาราม" พระอารามสำคัญอันเปรียบได้กับเพชรยอดมงกุฎแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ทรงสถาปนาเมื่อปลายรัชกาลบนสถานที่ถวายพระเพลิง สมเด็จพระราชชนนี พระอารามอันมีความหมายถึงความรุ่งเรืองแห่งชัยชนะ ประกอบด้วยพุทธสถาปัตยกรรมที่รวมความหมายทั้งคติจักรวาฬตามคัมภีร์โลกศาสตร์ พุทธศาสนา คติทักษาตามคัมภีร์โหราศาสตร และตำราพิชัยสงครามเข้าไว้ด้วยกัน เริ่มต้นจาก “ปรางค์ประธาน” ขนาดใหญ่เคยหุ้มทองจังโกทั้งองค์ ล้อมรอบด้วย “ปรางค์มุมบริวาร” ทั้ง 4 มุม เปรียบได้กับเขาพระสุเมรุอันรายล้อมด้วยวิมานของท้าวจตุโลกบาลประจำทิศทั้ง 4 ตามคติจักรวาฬ ล้อมรอบด้วยระเบียงคดที่เชื่อม “เมรุทิศ” ทั้ง 8 เข้าด้วยกัน สื่อความหมายถึงเทพยดาอัฐเคราะห์ประจำทิศทั้ง 8 ตามระบบทักษาและการตั้งจักรพยุหะตามตำราพิชัยสงคราม ภายในเมรุทิศประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องปางมารวิชัยซึ่งก่อพอกพระพุทธรูปปางมารวิชัยไว้อีกชั้น พุทธลักษณะและเครื่องทรงคล้ายคลึงมากกับพระประธานในพระอุโบสถวัดหน้าพระเมรุ

ความพิเศษอีกประการหนึ่งของวัดไชยวัฒนาราม คือ การวางตำแหน่ง “พระอุโบสถ” ไว้ด้านหน้าแทนที่พระวิหารหลวงเพื่อเป็นสื่อสัญลักษณ์ถึงชมพูทวีปที่ตั้งของพระมหาโพธิบัลลังก์ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงมีชัยเหนือพญามาราธิราช และตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ภายในพระอุโบสถจึงประดิษฐานพระพุทธรูปหินทราย 3 องค์ เพื่อสื่อความหมายถึงพระอดีตพุทธเจ้า พระปัจจุบันพุทธเจ้า และพระอนาคตพุทธเจ้าที่น่าจะหมายถึงพระองค์เองในอนาคต ซึ่งได้ตรัสรู้หรือจะมาตรัสรู้บนพระมหาโพธิบัลลังก์ศูนย์กลางแห่งชมพูทวีปดุจเดียวกัน

18.00 น. รับประทานอาหารค่ำที่ “เรือนอาหาร เดอริว่า อโยธยา” เพลิดเพลินบรรยากาศริมฝั่งแม่น้าเจ้าพระยา ตรงข้ามโบสถ์เซนต์ยอแซฟวัดคริสต์นิกายโรมันแคทอลิกแห่งแรกในประเทศไทย

20.00 น. เดินทางกลับกรุงเทพฯ

22.00 น. ถึงกรุงเทพฯ โดยสวัสดิภาพ

รับผู้ร่วมกิจกรรม 30 ท่าน

สนใจร่วมรายการแจ้งความประสงค์ที่
LINE ID: p.foundation โทร: 080-671-1833

โอนสำรองที่นั่งได้ที่
บัญชีมูลนิธิพิริยะ ไกรฤกษ์
เลขที่: 408-244-8765
ธนาคารไทยพาณิชย์


Location Details


Thammasat University - Tha Prachan Campus

LOCATION

2 Prachan Rd., Phra Borom Maha Ratchawang, Pranakorn Bangkok, 10200 Thailand

VIEW MAP