Chronicle of the Landscape Zipevent

Chronicle of the Landscape

26 Apr - 25 Jun 2022
00:00 - 00:00 (UTC+7)
Warin Lab Contemporary

Event Information


Chronicle of the Landscape

ศิลปิน สาครินทร์ เครืออ่อน

 

บทความโดย เรมี่ จารี่

วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี, กรุงเทพ

26 เมษายน - 25 มิถุนายน 2565

 

ศิลปะภาพถ่ายแบบจัดวาง โดย สาครินทร์ เครืออ่อน เป็นผลงานที่ยกเอาภาพทิวทัศน์มาถ่ายทอดในหลายแง่มุม นอกจากถ่ายทอดความหมายทางประวัติศาสตร์ศิลปะและอ้างอิงถึงผลงานที่ผ่านมาของศิลปินแล้ว ยังเชื่อมโยงกับจุดมุ่งหมายของวารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ในการพูดถึงปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

เสียงสะท้อนกังวานของ Chronicle of the Landscape นั้นชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อนึกถึงผลงาน Terraced Rice Field งานศิลปะจัดวางของสาครินทร์ ที่เปลี่ยนพื้นที่เนินสูงบริเวณหน้าปราสาท Wilhelmshöhe ยุคนีโอคลาสสิคซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ในเมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมัน ให้กลายเป็นทุ่งนาขั้นบันได ในช่วงนิทรรศการ documenta 12 เมื่อปี 2550  ศิลปินเลือก ‘ย้าย’ พื้นที่ที่มีอัตตลักษณ์จากเอเชียตะวันออกเชียงใต้สู่ยุโรปตะวันตก


วันนี้ เป็นเวลา 15 ปีหลังจากที่ความคิดนอกกรอบในงาน Terraced Rice Field ได้แสดงสู่สาธารณชน  การกลับมาทำงานจำลอง (minesis) ในผลงาน Chronicle of the Landscape ของสาครินทร์ นั้นน่าสนใจอย่างยิ่ง แต่มาในรูปแบบที่เราคุ้นเคยมากขึ้น ลักษณะการติดตั้งของภาพถ่ายทิวทัศน์นี้ ทำให้ดูเหมือนผลงานภาพศิลปะลวงตา (trompe-l’oeil) เหมือนฉากหลังของสตูดิโอสำหรับถ่ายภาพหรือเซลฟี่ (selfies)  ภาพทิวทัศน์ที่ถูกถ่ายในระดับสายตา มุมมองที่เห็นของทั้งแต่ละภาพนั้นท้าทายความสามารถของผู้ชมในการแยกแยะความจริงและสิ่งลวงตา ในขณะเดียวกันมุมมองส่วนตัวของศิลปินถูกถ่ายทอดลงไปในภาพ ความเป็นเจ้าของผลงานถูกปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หล่อหลอมรวมกับทิวทัศน์ เพื่อทดสอบความสามารถในการมองเห็นของเรา ดังนั้น Chronicle of the Landscape จึงเปิดช่องให้ผู้ชมได้ตระหนักถึงทั้งสาระสำคัญของผลงาน และสื่อที่ใช้ในการนำเสนอ

 

แม้จะถูกใช้แพร่หลายในยุคดิจิตัล แต่ความน่าเชื่อถือของการใช้ภาพถ่ายเพื่อเป็นสื่อในการถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ในโลกกลับถูกท้าทายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เลนส์ของกล้องได้บิดเบือนภาพให้แตกต่างไปจากความเป็นจริงสอดคล้องกับพฤติกรรมการบริโภคภาพถ่ายเกินจำเป็นและการสร้างโลกเสมือนจริงของการดำรงอยู่ของมนุษย์ ในขณะเดียวกัน สิ่งแวดล้อมในโลกที่จับต้องได้นั้นมีความแปรปรวนมากขึ้นเรื่อยๆ ความสูญเสียที่ไม่สามารถเรียกกลับมาได้ของธรณีวิทยาและระบบนิเวศ  อันเป็นผลกระทบรุนแรงที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ สิ่งเหล่านี้กำลังกู่ร้องถึงช่วงเวลาใหม่ที่เรียกว่า ยุคมนุษยสมัย (the Anthropocene)

 

นิทรรศการนี้เป็นครั้งแรกของศิลปินในการใช้ภาพถ่ายเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ สาครินทร์ได้ถ่ายทอดการเปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษยชาติกับธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของสื่อที่กำลังเกิดขึ้น Chronicle of the Landscape คือประวัติศาสตร์บทใหม่ที่สานต่อประวัติศาสตร์ศิลปะภาพทิวทัศน์ที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน

 

นิทรรศการ Chronicle of the Landscape เริ่มเปิดให้เข้าชมในวันที่ 26 เมษายน 2565 โดยจะมีงานเปิดนิทรรศการในเวลา 18.00 - 21.00 น. และจะจัดแสดงไปจนถึงวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ที่ วารินแล็บ คอนเท็มโพรารี ซึ่งตั้งอยู่ใน โครงการ โอ.พี. การ์เด้น ซอยเจริญกรุง 36 เขตบางรัก กรุงเทพฯ

โปรดติดตามกิจกรรมอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงระหว่างการจัดแสดง ซึ่งจะทยอยประกาศหลังจากงานเปิดนิทรรศการ

คำอธิบายภาพประกอบ

ชื่อ: 13°33'55"N 99°35'04"E · 99.0 m

สื่อ: ภาพถ่ายดิจิทัล

ขนาด: 220.1 x 438.7 ซม.

 

เกี่ยวกับศิลปิน: สาครินทร์ เครืออ่อน

สาครินทร์ เครืออ่อน นับเป็นศิลปินแขนงศิลปะร่วมสมัยระดับแนวหน้าของไทย  เป็นที่รู้จักในระดับโลกจากผลงานศิลปะจัดวางเฉพาะพื้นที่ นำเสนอความคิดนอกกรอบและแรงบันดาลใจจากประวัติศาสตร์และประเพณีไทย เริ่มตั้งแต่ปี 2000 ศิลปินได้สร้างสรรค์ 9 ผลงานนิทรรศการเดี่ยวที่โดดเด่นและเป็นที่น่าจดจำ ได้แก่ Temple (2000), Yellow Simple (2001), Cloud Nine (2004), 2005 Crisis (2005),

Equal Opportunity? (2006), Horizon (2008) Ripe ProJect: Village and Harvest Time (2008), “h” (2008), Manorah and Best Friends of the Snake (2010) และ A Talebearer’s Tale: The Last Deer (2017)

นอกจากนิทรรศการเดี่ยวแล้ว สาครินทร์ยังได้ร่วมแสดงในนิทรรศการกลุ่มทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศทั่วโลก โดยเป็นตัวแทนประเทศไทยในงานเทศกาลศิลปะนานาชาติต่างๆ เช่น Venice Biennale ครั้งที่ 50 (2546) และ ครั้งที่ 53 (2552), Busan Biennale (2555) และ Singapore Biennale (2559) เขาเป็นศิลปินไทยคนแรกที่ได้แสดงผลงานในนิทรรศการ documenta ครั้งที่ 12 ปี 2550 ที่เมืองคาสเซิล ประเทศเยอรมัน โดยสาครินทร์ ได้สร้างผลงานศิลปะจัดวางขึ้น 2 ชิ้น ชื่อว่า Terraced Rice Field Art Project และ Nang Fa

สาครินทร์ ได้ร่วมแสดงงานใน Asian International Art Exhibition ครั้งที่ 21 ที่ประเทศสิงคโปร์ (2542), Nanjing Triennial ประเทศจีน (2551), Art Sanya มณฑลไห่หนาน ประเทศจีน (2556), Singapore Biennale (2559), Bangkok Art Biennale ครั้งที่ 1 (2551) และ Kathmandu Triennale 2077 (2565)

ในปี 2556 สาครินทร์ ได้รับเชิญให้ร่วมแสดงผลงาน Temple ในนิทรรศการ Murals ที่ Museum of the Foundation Joan Miró เมืองบาร์เซโลน่า ประเทศสเปน และในปี 2558 ได้แสดงงานร่วมกับศิลปินชาวจีน-ฝรั่งเศส หวาง หย่ง ผิง (2497-2562) ในนิทรรศการสุดล้ำ สนามตรึก (Imply Reply) ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ปัจจุบัน สาครินทร์ ดำรงตำแหน่งอาจารย์ประจำ ภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

สาครินทร์ ได้รับรางวัลศิลปาธร สาขาทัศนศิลป์ ประจำปี 2552 และได้ถูกคัดเลือกให้รับรางวัล Prudential Eye Awards ครั้งที่ 3 สาขา Lifetime Achievement Award for Asian Contemporary Art ในปี 2559

ผลงานของสาครินทร์ อยู่ในคอลเลคชั่นถาวรของพิพิธภัณฑ์ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนหลายแห่ง เช่น สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประเทศไทย และ พิพิธภัณฑ์ศิลปะสิงคโปร์ (Singapore Art Museum)

 

Location Details


Warin Lab Contemporary

LOCATION

Warin Lab Contemporary. Unit 3101, O.P. Garden, Charoenkrung Road soi 36 Bangrak, Bangkok 10500 Thailand. Bangkok, 10500 Thailand

VIEW MAP