The Boundary of Solitude Zipevent

The Boundary of Solitude

31 Mar - 28 Jun 2023
10:00 - 18:00 (UTC+7)
SAC Gallery

Event Information


The Boundary of Solitude

 

 

   ในอาณาบริเวณอันห่างไกล ธรรมชาติได้รับการจัดวางและถูกพรรณนาถึง ในฐานะองค์ประกอบของความเป็นชาติแฝงฝังไปด้วยอุดมการณ์ทางสังคมและการเมือง ที่นิยามความมีตัวตนของสิ่งต่างๆ ผ่านพรมแดนของรัฐสมัยใหม่ การดำรงอยู่อันพร่าเลือนของเส้นสมมุติที่แบ่งเขตแดนนี้ ได้สร้างวาทกรรมความเป็นชาติอันเข้มข้นผ่านกระบวนการจัดสรร ควบคุม
และนิยามความหมาย ที่แบ่งแยกความเป็นเขาออกจากเราด้วยความแตกต่างของอุดมการณ์ทางการเมือง พรมแดนกลายเป็นกายภาพของการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนและรัฐ ซึ่งยังคงไว้ด้วยตะกอนความทรงจำอันตกค้างหลงเหลืออยู่บนพื้นที่ ภาพของธรรมชาติที่พรรณนาเอาไว้ถึงความสวยงามของตัวมันเอง จึงเต็มไปด้วยแรงขับเน้นที่ไร้ถ้อยคำ เผยรอยแยกที่ปริแตกบนพรมแดนประวัติศาสตร์ที่ยังคงเชื่อมโยงตัวตนและแห่งหนของผู้คนในปัจจุบัน ผ่านความทรงจำ เรื่องเล่า ในบริบททางประวัติศาสตร์ยุคสงครามเย็น วัชรนนท์ เกิดและเติบโตภายในบริบทของสังคมเมือง ที่แม้จะเป็นตัวเมืองในจังหวัดสุพรรณบุรี แต่กลับถูกมองเป็นอื่นและห่างไกลจากความเข้าใจของความเป็นเมืองศูนย์กลางอย่างกรุงเทพมหานคร ภาพจำของทิวทัศน์ในชนบทไทย กับความทรงจำส่วนตัวของศิลปิน มาบรรจบพบกันบนความไม่ลงรอยในประวัติศาสตร์กระแสหลักของไทย ชวนให้กังขาถึงการทำงานของ ‘ภาพทิวทัศน์’ ในฐานะเครื่องมือแห่งรัฐ เพื่อประดิษฐ์สร้าง ‘ภาพจำ’ และกระบวนการสร้างที่ไม่ได้เป็นเพียงการสร้างภาพ แต่ยังหมายรวมไปถึงการสร้างคำนิยามบางประการไปพร้อมๆ กัน สำนึกของการสร้างภาพชนบทได้ถูกตั้งคำถามขึ้นผ่านผลงานในชุด ‘ชนบทก่อนความทรงจำ (Countryside Before Memory)’ (ผลงานชุดนี้แบ่งออกเป็น

   โดยส่วนแรกจัดแสดงในนิทรรศการ The Place of Memories ที่ เอส เอ ซี แกลเลอรี และส่วนที่สองในนิทรรศการ Future Tense: Imagining the Unknown Future, Contemplating the Cold War Past ที่หอศิลป์บ้านจิม ทอมป์สัน) ด้วยเหตุใดและอย่างไร ถึงทำให้ภาพทิวทัศน์ได้เป็นเครื่องมือแห่งรัฐในการส่งต่ออุดมการณ์และการช่วงชิงความหมายของพื้นที่ โดยเฉพาะขอบเขตของความห่างไกล และความเป็นธรรมชาติที่หมายรวมเอาวิถีความเป็นชนบทร่วมเข้าด้วยกัน กลายเป็นคำถามที่วัชรนนท์ยังคงตั้งคำถามและให้ความสนใจเรื่อยมา นิทรรศการ The Boundary of Solitude เป็นการหวนกลับไปพินิจความเป็นภาพทิวทัศน์ (landscape) ผ่านการใช้ภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ (landscape painting) เพื่อทำความเข้าใจตัวตนและแห่งหนของวัชรนนท์ ณ รอยแยกของความทรงจำ อันไม่ลงรอยกับภูมิทัศน์ทางการเมืองร่วมสมัยของไทย
ศิลปินเผชิญหน้ากับตนเองอีกครั้งผ่านการจับจ้องไปยังภูมิทัศน์ของพื้นที่ที่จัดวางตนเ องอยู่บนเขตแดนอันห่างไกลจากความเป็นศูนย์กลางของรัฐ และประวัติศาสตร์กระแสหลัก
ทำให้ภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ของวัชรนนท์เป็นภาพสะท้อนซึ่งแยกไม่ขาดออกจากบริบททางประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และไม่อาจเป็นเพียงการอ่านผ่านองค์ประกอบและการจัดวางภายในภาพ แต่เป็นเหตุการณ์และหมายเหตุเบื้องหลัง เช่นเดียวกันกับสำนึกของความเป็นชาติที่พ้นเกินออกจากกายภาพของร่างกายไปสู่องคาพยพของภูมิกายา ปฏิเสธไม่ได้ว่าพลวัตของการเมืองในยุคสงครามเย็น ส่งผลต่อนโยบาย การพัฒนาสาธารณูปโภค และเกิดแผนพัฒนาเศรษฐกิจขึ้นซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการบุกเบิกพื้นที่ห่างไกล
ขณะเดียวกันยังเต็มไปด้วยความพยายามของรัฐในการถ่ายทอดชวนเชื่อ และโฆษณาอุดมการณ์ของรัฐส่วนกลางไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วงชิงพื้นที่อุดมการณ์ทางการเมือง ภาพวิวทิวทัศน์ที่เคยไกลห่างได้ประจักษ์แก่สายตา ภาพจำอันคุ้นชิน เชื่อมต่ออดีตเข้ากับสภาวะที่ตัวตนของคนรุ่นหลังดำรงอยู่ในปัจจุบัน

   และเป็นหมุดหมายอันยุ่งเหยิงถึงอดีตที่เกี่ยวพัน พอกพูน ซ่อนทับอดีตซ้อนอดีต อันแฝงฝังไปด้วยอุดมการณ์แห่งรัฐและการต่อสู้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ความทรงจำบนขอบเ
ขตภูมิทัศน์อันห่างไกล ในห้องแรกการจัดวางตนเองบนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์กระแสหลัก นำพาวัชรนนท์เดินทางออกไปยังพื้นที่ห่างไกลและชายแดนของเรื่องเล่าในอดีตพื้นที่สี
แดงบริเวณเทือกเขาภูพานภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ที่ปรากฏกลายเป็นความแปลกแปร่งอันหยุดนิ่ง ชวนให้หวนคิดพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ที่รายล้อมอยู่รอบตัว ไม่ใช่เพียงการปรากฏแก่สายตาของทิวทัศน์ทางธรรมชาติที่กว้างไกลสุดขอบเขตทางสายตา แต่ยังเป็นประวัติศาสตร์และการสร้างเขตแดนรัฐชาติ ผ่านปฏิบัติการต่างๆ ความแน่นิ่งอันแฝงฝังไปด้วยความไม่ลงรอยของอุดมการณ์ทางความคิดปกปิดและซ่อนเร้นด้วยถ้อยคำ เทียบเท่ากับสุมทุม พุ่มไม้และทิวทัศน์ที่ไม่เคยเป็นภาพที่แน่ชัดในความทรงจำภาพของธรรมชาติอันโดดเดี่ยวได้กลายเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐในกระบวนการสร้างชาติ ให้ตระหนักรู้ถึงความรู้สึกและสำนึกของความเป็นชาติในจินตนาการของชุมชนที่ความสัมพันธ์เหล่านี้ส่งผลต่อการมองตัวตนของเราในปัจจุบัน กลับเกี่ยวพันกับอดีตภาพเสมือนที่บอกเล่าถึงความทรงจำและอำนาจที่แฝงฝังอยู่ในพื้นที่ธรรมชาติในฐานะฉากหลัง ภูมิหลัง ที่ไม่สามารถแยกตัวออกจากประวัติศาสตร์ได้ในพื้นที่จัดแสดงห้องที่สอง ศิลปินเผชิญหน้ากับความไม่ลงรอยระหว่างประวัติศาสตร์ความทรงจำ และพื้นที่ธรรมชาติ นำพาศิลปินไปสู่การดำรงอยู่ ณ ห้วงขณะเวลาที่จับจ้องไปยังธรรมชาติเบื้องหน้ายินยอมและน้อมรับถึงตัวตนที่ดำรงอยู่ตรงนี้และไม่ใช่ที่อื่นใด คลี่คลายตัวเองไปจากภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ที่ราวกับจะสะท้อนความจริงทางสายตาไปสู่สัจจะ ที่ซื่อตรงต่อความเป็นภาพเขียนจากความทรงจำ ที่ประสบการณ์ห้วงอารมณ์ และจินตนาการผนวกรวมเข้าด้วยกันธรรมชาติได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์และประสบการณ์ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่ซึ่งวัชรนนท์กอปรร่างสร้างตัวตนขึ้นจากความสงสัยใคร่รู้ที่มีต่อความเป็นไปได้อันไม่จำกัดของสภาวการณ์ที่ไม่ปรากฏ
หรือจากเหตุที่ทำให้การณ์ไม่ปรากฏ

   เป็นความสัมพันธ์อันซับซ้อนของตัวตนซึ่งปรากฏอยู่ระหว่าง พื้นที่ สถานที่ความเคลื่อนไหว ความแน่นิ่ง และภูมิทัศน์ภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ของ วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ ในนิทรรศการ The Boundary of Solitude จึงเป็นการนำภาพจิตรกรรมของทิวทัศน์ทางธรรมชาติในพื้นที่สีแดงแถบเทือกเขาภูพาน มาเผยให้เห็นหรือชวนให้พินิจ ถึงเหตุการณ์ที่ไม่ถูกบันทึกหรือบอกเล่าพ้นออกไปจากกรอบประวัติศาสตร์กระแสหลักมากกว่าจะเป็นภาพนำเสนอความงดงามตามธรรมชาติที่ตาเห็น หากแต่เป็นประสบการณ์หรือสำนึกที่มีต่อองค์ความรู้ อีกนัยนึงเป็นดั่งร่างทรงของความทรงจำที่ร่วมก่อร่างสร้างตัวตนของศิลปินขึ้น การหวนกลับไปยังธรรมชาติ ไม่ใช่การโหยหาความสวยงามที่สูญหาย หรือวิถีชีวิตและสังคมในอุดมคติ ซึ่งครั้งหนึ่งภาพจำที่มีต่อชนบทได้สร้างภาพฝันให้กับผู้คน โดยกดทับความยากไร้และโดดเดี่ยวทางเศรษฐกิจไว้เบื้องหลัง ในช่วงหลังวิกฤตทางเศรษฐกิจ 2540
หากแต่เป็นการย้อนกลับไปทำความเข้าใจความโดดเดี่ยวของตัวตนที่เผชิญหน้ากับทิวทัศน์ทางธรรมชาติ ท่ามกลางการไหลบ่าของประวัติศาสตร์ ความทรงจำ คำบอกเล่าและภาพจำต่างๆ ที่ยึดโยงตัวตนของเขาเข้ากับอดีตที่ทับซ้อนกันในพื้นที่ธรรมชาติ การทำงานของภาพจิตรกรรมทิวทัศน์ในนิทรรศการครั้งนี้จึงเปรียบได้กับภาพเหมือนสะท้อนตัวตนของศิลปิน ผู้ให้ความสนใจกับสิ่งที่สูญหายหรือถูกทำให้สูญหาย คล้ายกับเป็นบาดแผลที่ถูกละเลยเพื่อระบุที่มาแห่งหนของตัวตนอันไม่สามารถแปลกแยก ไม่รับรู้ และเพิกเฉย
ต่อความเงียบงันอย่างไร้เดียงสา อันกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรุนแรงซ้ำซากในพื้นที่ทางการเมืองของไทย ในบรรยากาศที่เรียบนิ่งราวกับไร้ซึ่งกาลเวลา ในภาพจิตรกรรมทิวทัศน์เปล่าเปลี่ยว อาณาบริเวณเหล่านั้นกลับเต็มไปด้วยเรื่องเล่า ซึ่งอาจไม่ใช่อื่นใดนอกจากภูมิทัศน์ที่จัดวางความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างบุคคลกับประวัติศาสตร์ที่รายล้อม ในบริบทของความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ที่แปลกแยกไกลห่างเกินกว่าจินตนาการ ขณะเดียวกันกลับใกล้ชิด คุ้นชินด้วยภาพจำของภูมิทัศน์ทางธรรมชาติอันชินตา

 


Location Details


SAC Gallery

LOCATION

160, 3 Soi Sukhumvit 39, Khlong Tan Nuea, Watthana, Bangkok 10110 Bangkok, 10110 Thailand

VIEW MAP