Trending Now

ออกตัวก่อนว่าไม่ได้เชิญชวนทุกคนมาพายเรือแต่อย่างใด เพียงอยู่ดีๆ นึกได้ว่า สมัยก่อนที่เมืองกรุงเทพมีคลองเล็ก คลองน้อย คลองหลัก คลองใหญ่มากมายนั้น เป็นเพราะเมื่อก่อน เมืองไทย หรือ สยามเค้าพายเรือกัน ไม่ได้ใช้เครื่องยนต์ ไม่ต้องแคร์เรื่องน้ำมัน อะไรไม่มี และในช่วงที่น้ำมันแพงเยี่ยงนี้ รถก็มีถือกำเนิดแนวใหม่ เช่น รถที่ใช้พลังงานไฟฟ้า หรือย้อนกลับไปอีกนิดคือ รถยนต์ Hybrid ที่มีการสลับไปมาระหว่างพลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมัน และพลังงานไฟฟ้า ถ้ามองกลับมาที่เรือ โดยเฉพาะ เรือไทย มันก็น่าจะต้องมีหลากหลายแบบ ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน จะมีแบบไหนบ้าง ไปดูกันเลย

เรือผีหลอก

เป็นเรือขุดท้องเรือกลมเกือบแบน เรียวยาว มีไม้กระดานทาสีขาวและตาข่ายที่กราบเรือ ชื่อเรือ “ผีหลอก” มาจากการที่คนหาปลาจะแจวเรือที่มีแผ่นไม้กระดานทาสีขาวห้อยข้างกราบเรือ  อีกด้านหนึ่งเหนือกราบเรือมีแหตาข่ายขึงระหว่างท้องเรือ แล้วแจวเรือไปตามชายตลิ่งตอนดึกหรือใกล้รุ่ง ปลานอนอยู่ริมตลิ่ง เมื่อกระทบแผ่นไม้กระดานสีขาวก็ตกใจกระโดดข้ามแผ่นไม้ไปปะทะกับตาข่ายก็จะตกลงไปในเรือ เรือนี้ใช้กันทั่วไปในแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น

เรือชะล่า

เป็นเรือขุด ท้องกลมเกือบแบน เมื่อขุดแล้วจะไม่ตกแต่งมาก เพียงแค่ปาดหัวปาดท้ายเรือไม่ให้ต้านน้ำมาก นับเป็นต้นแบบของเรือขุดทั้งหลาย ในอดีตใช้บรรทุกข้าวเปลือก เพราะท้องเรือแห้งสนิท ข้าวเปลือกไม่เปียกน้ำและสามารถบรรทุกได้มาก พบเห็นบริเวณภาคเหนือและภาคกลาง

เรือบด

เป็นเรือต่อ มักใช้ไม้สัก ไม้ยมหอม หรือไม้ยาง ลักษณะเพรียว ทวนหัวและท้ายโค้งเรียวขึ้นไปบนดาดฟ้า หากใช้เป็นเรือแข่งจะมีขนาดยาวนั่งได้ 58 คน เรือบดมี 2 ชนิด คือ เรือบดไม้กระดานห้าแผ่นและเรือบดท้องกลมที่เรียกว่า เรือบดเกล็ด มีใช้ทั่วไปแถวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง กรุงเทพฯ เป็นต้น

เรือป๊าบ

เป็นเรือต่อจากไม้สัก ลักษณะหัวเรือเรียว ตรงกลางกว้าง ท้องเรือกลมเกือบแบน พัฒนามาจากเรืออีแปะของภาคกลาง ช่างต่อเรือมักต่อกันมาจากภาคเหนือหรืออาจส่งไม้มาต่อเรือแถวย่านรังสิต เป็นเรือที่นั่งสบาย กลางลำลดพื้นลงต่ำ ใช้โดยสารไปมาระหว่างหมู่บ้านหรือเกี่ยวข้าวเกี่ยวหญ้า

เรือโปง

หรือเรียกว่า “อีโปง” เป็นเรือขุดโดยนำต้นตาลมาผ่าออกเป็นสองซีก สุมไฟไส้ในของลำต้นแล้วแต่งจนกลมเรียบ ใช้พายในน้ำตื้นๆ ใช้พายหรือถ่อลัดเลาะไปตามชายทุ่ง เรือนี้ทนทานมาก สามารถจอดตากแดดตากฝนและเป็นเรือที่ไม่กลัวถูกขโมย มีใช้ทั่วไปในแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง สิงห์บุรี เป็นต้น

เรือพายม้า

เป็นเรือขุดท้องกลม หัวและท้ายเรือเชิดขึ้น แต่ท้ายเรืองอนมากกว่า ทั้งหัวและท้ายเรือใช้ไม้สัก ทำหูกระต่ายรับกราบเรือ เพื่อเสริมกราบเรือให้สูงขึ้น หัวท้ายเรือปูแคร่เกือบเสมอปากเรือ ส่วนกลางลำตามปกติใช้บรรทุกสิ่งของ แต่ถ้าใช้เล่นเพลงเรือหรืออยู่อาศัย พื้นเรือช่วงกลางลำจะเสมอปากหรือกราบเรือ บางท้องถิ่นเรียก เรือเพ่นม้า หรือ พะม้า ใข้สัญจรระหว่างหมู่บ้าน เล่นเพลงเรือ มีใช้ทั่วไปในแถบจังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา และอ่างทอง

เรือโล้

เป็นเรือต่อโดยใช้ไม้เบญจพรรณที่มีในท้องถิ่น ดัดแปลงมาจากเรือใบที่มีทวนท้ายสองอัน เป็นเรือที่มีทรงตัวดีที่สุดในจำพวกเรือที่มีขนาดเดียวกัน สามารถแล่นห่างั่งออกไปได้ไกลถึง 30 ไมค์ และอยู่ในทะเลได้นานถึง 1 วัน หรือใช้เป็นเรือประจำอยู่กับเรือใหญ่ เรือประเภทนี้ใช้ออกจากท่าในตอนน้ำลง และใช้กู้โพงพางเพียงครึ่งวันเท่านั้น สัตว์ทะเลที่จับได้เป็นพวกกุ้งและปูม้า ใช้ทั่วไปในชายฝั่งทะเลตะวันออก

เรือสำปั้นแปลง

เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดาน 5 แผ่น มีกราบปิดหัวท้ายเรือ ดัดแปลงมาจากเรือสำปั้นของจีนแต่มีรูปร่างเพรียวกว่า บางลำมีท้ายตัดเรียกว่า “สำปั้นท้ายตัด” ในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ต่อเรือสำปั้นแปลงเป็นเรือรบหลวงด้วย เรือนี้ส่วนใหญ่ใช้ค้าขายในแถบจังหวัด พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร กรุงเทพฯ เป็นต้น

เรือสำปั้นสวน

เป็นเรือต่อในตระกูลเรือสำปั้น มีขนาดใหญ่กว่าเรือสำปั้นทั่วไป ตรงกลางลำมีประทุนสานด้วยไม้ไผ่สำหรับบังแดด กันลม เรือนี้ใช้ค้าขายของสวน หมาก พลู ในแถบจังหวัดนครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพฯ เป็นต้น

เรือไทย ที่เห็นละครย้อนยุค มากับพระ นั่นคือ เรือสำปั้นเพรียว

เป็นเรือต่อด้วยไม้กระดาน 5 แผ่น ลักษณะเพรียวเหมือนสำปั้นพายหรือเรือสำปั้นดอน ใช้เป็นพาหนะสำหรับพระภิกษุ สามเณร บิณฑบาตในเทศกาบทอดกฐิน ในแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยา อ่างทอง กรุงเทพฯ เป็นต้น

เรือหมู

เป็นเรือขุดท้องกลม ทำจากไม้สักหรือไม้ตะเคียน หัวท้ายเรียวงอนเล็กน้อย ส่วนท้ายเรืองอนมากกว่าหัวเรือ หัวท้ายเรือเลี่ยมด้วยแผ่นทองเหลือง มีลายแปลกๆ สวยงาม พื้นหัวและท้ายเรือมีแคร่ปิดเปิดได้ ส่วนกลางลำเป็นแคร่โป่งแบบลูกระนาด ใช้พายไปร่วมงานทอดผ้าป่า ไปฟังเพลงเรือ หรือใช้หาปลาตามทุ่งนาด้วยการลงเบ็ด ลงข่าย มีใช้ทั่วไปในภาคกลาง เช่น จังหวัดพิจิตร นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา เป็นต้น

เรือไทย เหล่านี้ บางลำก็เห็นได้ตามละครย้อนยุค หรือในปัจจุบัน ตลาดน้ำบางแห่งก็ยังมีเรือแบบไทยโบราณนี้ ปรากฎอยู่ เรือโล้ เรือไทย ที่แอบคิดว่า บางสำนวนที่มีคำว่า โล้ๆ มาจากแดนไกลเพื่อมาหาใครสักคน จะมาจากเรือประเภทนี้หรือไม่ แต่ยังไงก็แสดงถึง ความสำคัญของเรือ กับเมืองไทยในอดีตอย่างแนบแน่น อีกอย่าง ข้อมูลเรื่องราวดีๆ ที่เชื่อว่าน้อยบทความนักจะมาเผยแพร่ และต้องขอขอบพระคุณข้อมูลของเรือแต่ละชนิด และรูปภาพประกอบ จากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พาณิชย์นาวี (คลิกไปดูเว็บไซต์ที่นี่) เสียดายที่หารูปจริงมาไม่ค่อยได้ แต่มีเพียงเท่านี้ก็ทำให้นึกภาพออกแล้ว ถึงความสำคัญของ เรือไทย ในสมัยก่อน สำหรับบทความหน้า จะพาย้อนยุค หรือล้ำยุคไปแค่ไหน ก็ฝากติดตามกันไว้ด้วยน้า


ติดตามพวกเราได้ที่ Zipevent Blog

Follow us for more interesting content!

ฝากถึงพี่น้อง แฟนๆ ที่เคารพรักทุกท่าน ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย จิ้มๆ

Comments

comments