Trending Now

เอส เอ ซี แกลเลอรี ภูมิใจเสนอ นิทรรศการ Intentional Chance โดย กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย ณ ชั้น 2 อาคารหอศิลป์ เอส เอ ซี แกลเลอรี 3 เมษายน – 22 พฤษภาคม 2564

รอยทีแปรง มีบทบาทอย่างไรในงานจิตรกรรม

นิทรรศการ Intentional Chance
Sunday, 2020, Oil on Sa paper, 145 x 100 cm

เทคนิคพื้นฐานของการสร้างผลงานจิตรกรรมคือการวาดภาพด้วยพู่กัน ศิลปินจำนวนไม่น้อยใช้อุปกรณ์นี้เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร และเมื่องานศิลปะมีพู่กันเป็นผู้ดำเนินเรื่อง ยิ่งทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจว่า รอยทีแปรง (Brushstroke)  มีบทบาทอย่างไรในงานจิตรกรรม จิตรกรในประวัติศาสตร์สำรวจศักยภาพการแสดงออกของพู่กันด้วยความพยายามค้นคว้าหาแก่นแท้ของเครื่องมือพื้นฐานนี้ผ่านการสำรวจสภาวะภายใน ที่ระดับอารมณ์และความรู้สึก ทำให้ทีพู่กัน หรือทีแปรง มีความหมายเป็นอุปลักษณ์ของพลังงานที่สื่อ สะท้อนสภาวะ มุมมอง ท่าทาง หรือกระทั่งห้วงเวลาขณะที่ศิลปินผลิตผลงาน

นิทรรศการ Intentional Chance โดย กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย

นิทรรศการ Intentional Chance
Orange Dancing, 2020, Oil on Sa paper, 100 x 200 cm

Intentional Chance โดย กิติก้อง ติลกวัฒโนทัย นำเสนอจิตรกรรมนามธรรมที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของสี ทีแปรง และพื้นผิว ผลงานหลายๆ ชิ้นขับเน้นภาพที่ดำเนินเรื่องราวด้วยรอยพู่กันอย่างโดดเด่น ด้วยท่าที (gesture) ที่แตกต่างและหลากหลาย ดูราวกับเป็นภาพสัญลักษณ์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างอักขระและความหมาย แม้ทีแปรงหรือพู่กันจะเคยถูกสำรวจมาก่อนในประวัติศาสตร์ของศิลปะ จิตรกรมากมายล้วนต้องการที่จะตั้งคำถามเกี่ยวกับรอยพู่กันเมื่อมันได้กวัดแกว่งไปบนผิวผ้าใบ กิติก้องก็ยังเป็นอีกศิลปินที่ใช้ร่องรอยเหล่านี้เพื่อค้นคว้าไปถึงโครงสร้างทางความคิด สภาวะรอบตัว ความรู้สึก เช่นเดียวกับพลังงานที่เราเคยรับรู้ได้จากภาพวาดของเด็กๆ จากการเคลื่อนไหวพู่กันของสัตว์ หรือจะทั่งของนักกวีผู้ใช้พู่กันในการเขียนอักขระ

นิทรรศการ Intentional Chance
Floating Elements, 2020, Mix media on acrylic, 60 x 60 cm

นอกจากสีสันอันโดดเด่นแล้ว ผลงานของกิติก้อง ได้สร้างสรรค์รอยทีพู่กันด้วยเทคนิคพิเศษ ที่ๆ จิตรกรรมเหล่านี้ถูกเปลือยออกให้เหลือเพียงเนื้อแท้เพื่อดึงบุคลิกภาพของศิลปินออกมา เราจะพบร่องรอยความเคลื่อนไหวและท่าทีที่ทำให้ผลงานของกิติก้องดูคล้ายกับการสื่อสารทางภาษาชนิดหนึ่ง การเคลือบผลงานด้วยวัสดุพิเศษยิ่งขับเน้นรอยทีแปรงเหล่านั้นให้ชัดเจน และสร้างมิติให้กับความเคลื่อนไหวบนระนาบนี้ Intentional Chance จึงเป็นนิทรรศการที่ต้องการเสนอท่าทีใหม่ๆ ให้กับงานนามธรรม ด้วยรหัสภาษาของพู่กัน เชื้อเชิญผู้ชมร่วมเดินทางค้นหาความหมายที่เปิดกว้างของจิตรกรรมร่วมสมัย

โดยนิทรรศการนี้ จะจัดแสดง ณ SAC Gallery ตั้งแต่ 3 เมษายน – 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 โดยพิธีเปิดจะมีในวันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2654 เวลา 16:00 น. และเปิดให้เข้าชมในวันจันทร์- เสาร์ เวลา 10:00 น. – 18:00 น. (วันอาทิตย์กรุณานัดหมายล่วงหน้า)

เกี่ยวกับ SAC Gallery

SAC Gallery (เอส เอ ซี แกลเลอรี) เป็น หอศิลป์เอกชน ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ.2555 โดยคุณศุภโชค อังคสุวรรณศิริและบริหารงานโดยครอบครัวอังคสุวรรณศิริ ตั้งอยู่ในซอยสุขุมวิท 39 กรุงเทพฯ ประกอบไปด้วย 2 อาคาร มีพื้นที่แสดงงานถึง 2,100 ตร.ม. จัดแสดงนิทรรศการศิลปะของศิลปินไทยและต่างประเทศ รวมถึงจัดกิจกรรมทางศิลปวัฒนธรรมต่างๆ อาทิ การบรรยาย งานเสวนา เวิร์กช็อป และงานสาธิตทางศิลปะต่างๆ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ได้จัดนิทรรศการมาแล้วกว่า 100 นิทรรศการ และนำผลงานศิลปินไทยไปเผยแพร่ในงานอาร์ตแฟร์ต่างประเทศกว่า 20 ครั้ง ในนามของ SAC Gallery กรุงเทพฯ ด้วยความมุ่งหมายที่จะเผยแพร่ผลงานของศิลปินไทยและศิลปินในภูมิภาคเอเชียผ่านทางงานแสดงศิลปะ เราหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนศิลปินไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติและช่วยขับเคลื่อนวงการศิลปะในประเทศไทยให้เกิดความหลากหลายและก้าวไกลมากขึ้น

นอกเหนือจากพื้นที่แสดงงานที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แล้ว ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ ยังเพิ่มฐานการเผยแพร่และสนับสนุนวงการศิลปะ โดยได้ก่อตั้ง SAC Art Lab พื้นที่แสดงงานศิลปะแห่งใหม่ใจกลางเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นงานทดลองและการวิจัยทางศิลปะ รวมถึงโปรแกรม SAC Residency ตั้งอยู่ อ.แม่ริม เพียง 11 กม. จากตัวเมืองเชียงใหม่ โดยจัดสถานที่พำนักและที่ทำงานให้แก่ศิลปินจากต่างประเทศเพื่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะและได้แบ่งปันความรู้ ทักษะความสามารถให้กับชุมชนท้องถิ่น 

ขอบคุณข้อมูล SAC Gallery จาก มิวเซียมไทยแลนด์


ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย 

  • Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
  • Instagram: @Zipevent
  • Website: www.zipeventapp.com
  • Twitter: @Zipevent
  • Facebook: @Zipevent

Comments

comments