Trending Now

ในช่วงที่ผ่านมาก่อนหน้านี้ ประเทศไทยเราได้มีการรณรงค์ในเรื่องของการลดใช้พลาสติกเกิดขึ้น อันเนื่องมาจาก มลพิษ ทางสิ่งแวดล้อมที่มีมากขึ้นทุกวัน ทำให้ผู้คนได้ตระหนักถึงปริมาณที่เพิ่มขึ้นของขยะที่ไม่ได้มีการแยก จึงได้ออกมาเรียกร้องให้ลดการใช้พลาสติก จนทำให้ประเทศไทยได้ลดลำดับประเทศที่มีขยะทิ้งลงทะเลจากอันดับที่ 6 เป็นอันดับที่ 10 ของโลก อันเป็นผลจากทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือกันนั่นเอง

แต่แล้วกระแสของการรณรงค์ก็ได้จางหายไปเมื่อพบกับสถานการณ์ที่ไม่ปกติอย่าง COVID-19 ที่ได้เข้ามาดึงความสนใจ โดยสถานการณ์นี้ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ให้เป็นแบบ New Normal ซึ่งเป็นการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ในยุค COVID-19 ซึ่งถึงแม้จะสามารถช่วยควบคุมการระบาดของโรคได้ก็จริง แต่ก็ต้องแลกมาด้วยปริมาณขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลแบบที่เราคาดไม่ถึงเลยทีเดียว

พลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งถูกนำกลับมาใช้อีกครั้งเป็นจำนวนมาก เนื่องจากพอมีประกาศให้ทำงานที่บ้าน รวมถึงเป็นช่วงล็อกดาวน์ที่ต้องกักตัว เราก็แทบจะใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านเกือบตลอดเวลา การบริการแบบเดลิเวอรี่จึงได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งแน่นอนว่าอาหารเดลิเวอรี่นั้นก็มาพร้อมกับขยะพลาสติกอันมากมาย และร้านเครื่องดื่มหรือร้านค้าต่างก็ประกาศงดรับภาชนะใช้ซ้ำของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำส่วนตัว หรือกล่องข้าว และหันมาใช้แค่พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งแทนเพื่อความปลอดภัย รวมไปถึงการที่เราไม่สามารถออกไปข้างนอกได้ ก็ทำให้ต้องซื้อสินค้าต่างๆ ทางออนไลน์แทน จึงเกิดเป็นขยะจำนวนมากจากกล่องพัสดุ วัสดุกันกระแทก หรือแม้แต่ห่อบรรจุที่เป็นพลาสติก สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้มีปริมาณขยะเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ถึง 15% คือจากวันละ 5,500 ตัน เป็น 6,300 ตันต่อวัน ซึ่งยังไม่ได้นับรวมไปถึงขยะประเภทหน้ากากอนามัย และขยะจากการกักตัวที่เป็นขยะพลาสติก ซึ่งรีไซเคิลไม่ได้เพราะเป็นขยะอันตรายทางการแพทย์ ขยะเหล่านี้หากไม่ได้รับการจัดการที่ดี ก็จะกลายเป็นมลพิษและทำให้เกิดผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนอย่างมาก

มลพิษ

COVID-19 อาจจะน่ากลัวก็จริง แต่ผลกระทบของมลภาวะที่เป็นพิษจนทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่น่ากลัวมากเช่นเดียวกัน เนื่อกจากสามารถคร่าชีวิตคนได้มากกว่าโรคติดต่อทั้งหมดมารวมกันซะอีก การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิส่งผลกระทบอย่างมากต่อภูมิภาคที่ยากจนและร้อนจัดของโลก ซึ่งหากปรับตัวได้ยากก็จะนำไปสู่การเสียชีวิตได้ นอกจากนี้อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นยังส่งผลให้เศรษฐกิจของโลกล้มตัวลงได้อีกด้วย เนื่องจากวิกฤติทางอากาศ ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ สูงมาก ไม่เว้นแต่ประเทศที่ร่ำรวย

ดังนั้นซิปอีเว้นท์เองก็หวังว่าสถานการณ์ไม่ปกติอย่าง COVID-19 จะเริ่มคลี่คลายลง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาใหม่ให้กับเราอย่าง มลพิษพลาสติกและวิกฤตการจัดการของเสีย รวมทั้งอยากให้ทุกคนตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทั้งการลดใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง แล้วหันมาใช้วัสดุที่สามารถใช้ซ้ำได้ โดยอาจจะเพิ่มการทำความสะอาดให้มากขึ้น หรือเปลี่ยนการใช้พลาสติกมาเป็นกระดาษแทน อีกทั้งต้องแยกขยะทางการแพทย์อย่างหน้ากากอนามัยออกจากขยะอื่นๆ ด้วยนะ เพื่อความปลอดภัยและสะดวกในการกำจัด หากว่าเราช่วยกันแบบนี้รับรองว่าโลกก็จะน่าอยู่ยิ่งขึ้นแน่นอน 😀

นอกจากเรื่องของ มลพิษ ในยุคนี้ที่อยากให้ทุกคนได้รู้กันแล้วนั้น วันนี้ซิปอีเว้นท์ก็ขอพาทุกคนมาพบกับนิทรรศการ ที่ตระหนักถึงปัญหาของมลพิษที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และต้องการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น กับ

Pollution By Gongkan x Naraphat Sakarthornsap

มลพิษ 01

มลพิษ
[มนละพิด] น. พิษที่เกิดจากความมัวหมองหรือความสกปรกของสิ่งแวดล้อม

มลพิษคือสิ่งรอบตัวที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ มลพิษเปรียบเสมือนสิ่งที่คอยกัดกินและทำลายเราทีละนิดอย่างช้าๆ ซึ่งในขณะเดียวกันคนรอบตัวก็สามารถสร้างมลพิษได้ในทิศทาง และมีรูปแบบที่แตกต่างกัน ทั้งจากสภาพแวดล้อมทางตรงและทางอ้อม หรือในบางกรณีผู้คนก็สามารถทำให้เกิดมลพิษต่อสภาพจิตใจ ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกผ่านการกระทำบางอย่างทั้งที่เกิดจากความตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็เป็นได้เช่นกัน

ในฐานะที่เราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เคยกระทำผิดพลาด เราจึงอยากสร้างพื้นที่ขึ้นมาซักที่ ที่ที่ผู้คนจะได้ใช้เวลาพิจารณาสิ่งต่างๆ รอบตัวมากขึ้นจากการกระทำในอดีตที่ส่งผลกระทบมายังปัจจุบัน ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม การกระทำที่ส่งผลทำให้เกิดมลพิษต่อผู้คนหรือสิ่งต่างๆ รอบข้างที่ได้กลายเป็นรอยแผลเป็นต่อความรู้สึกจนยากที่จะจางหาย ในบางครั้งเราก็ไม่สามารถย้อนเวลากลับไปแก้ไขอดีตที่ผิดพลาดได้ แต่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นเครื่องเตือนใจ ที่คอยสอนให้เรารู้จักวิธีการป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกในอนาคต

“หากเราเริ่มเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้นได้ตั้งแต่ตอนนี้ เมล็ดพันธุ์ที่กำลังจะเติบโตในอนาคต จะได้รับโอกาสในการเบ่งบานในสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

เกี่ยวกับศิลปิน

ก้องกาน (Gongkan) หรือ กันตภณ เมธีกุล ศิลปิน แนว POP ART เขาเริ่มผลิตงานศิลปะอย่างจริงจัง หลังจากจบจากมหาวิทยาลัยศิลปะ และอยู่ในวงการครีเอทีฟโฆษณา กว่า 3 ปี เขาเริ่มเป็นที่รู้จักจากผลงาน Teleport Art ที่เริ่มจากการทำ Street Art New York งานของเขาเล่าถึงชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ในสังคมแห่งทุนนิยม ที่ทุกคนต่างดิ้นรน หาสิ่งที่ดีกว่าให้ชีวิต รวมไปถึงเรื่องเพศ และความเท่าเทียม เขาเปิดมิติใหม่ๆ ที่จะพาทุกคนไปในโลกแห่งความหวัง และโลกในอุดมคติ ผ่านทางหลุมดำและสัญลักษณ์ต่างๆ ในงานของเขา เช่นงานของเขาที่วาดผู้นำประเทศ Trump และ คิมจองอึง ผู้นำสหรัฐอเมริกา และ เกาหลีเหนือ ทะลุประตูมิติมาจูบปากกัน ในช่วงที่สองประเทศกำลังมีปัญหาขัดแย้งรุนแรง
งานของเขาได้แสดงในหลายๆที่ และในหลายๆประเทศ เหมือนเขาได้เปิดประตูมิติ ให้งานของเขา ได้ไปในที่ต่าง ๆ รอบโลก เช่น New York, Taipei, Shanghai, Beijing, Tokyo, Bangkok เป็นต้น ในหลากหลายรูปแบบ ทั้ง Exhibition, Sculpture, Painting, Street art และ Mural art

นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ มักนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ทั้งในเรื่องของเพศสภาพ และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมผ่านงานศิลปะภาพถ่ายและงานศิลปะการจัดวาง โดยมีดอกไม้หลากหลายชนิดเป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่องราว ซึ่งดอกไม้หลากหลายชนิดที่นรภัทรใช้มักมีที่มาและความสำคัญอันลึกซึ้ง นั่นทำให้ดอกไม้ของเขากลายเป็นกุญแจสำคัญในการไข เพื่อหาคำตอบที่เขาได้แอบซ่อนเอาไว้ในผลงานศิลปะอย่างแนบเนียน ซึ่งในบางครั้งภาพถ่ายดอกไม้ที่แสนสวย และนุ่มนวลของนรภัทร อาจมีที่มาที่เกิดจากความพังพินาศของสภาพภายในใจของเขาก็เป็นได้
ผลงานของนรภัทรในช่วงแรกมันแสดงออกถึงความท้าทายธรรมชาติในการเก็บรักษาความสดของดอกไม้ แต่แล้วก็ถูกพัฒนาจนกลายเป็นความท้าทายของอำนาจ และอิทธิพลที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านผลงานภาพถ่ายดอกไม้หลากหลายชนิดเหล่านี้ ดังนั้นอย่าเชื่อดอกไม้อันแสนสวยงามที่ปรากฎอยู่ตรงหน้า แต่ควรหาคำตอบบางอย่างที่เขาได้แอบซ่อนเอาไว้ บางทีเรื่องราวที่นรภัทรเผชิญหรือต้องการนำเสนอ อาจเป็นเรื่องราวเดียวกันกับที่หลายๆคนกำลังดิ้นรนอยู่อย่างหลีกหนีไม่ได้ บนพื้นฐานของสังคมที่เต็มไปด้วยความไม่เท่าเทียม

  • จัดแสดงที่ RCB Photographers’ Gallery ชั้น 2 (เข้าชมฟรี)
  • วันที่ 7 สิงหาคม – 4 ตุลาคม 2563

Credit : Greenpeace, Greennews, The Guardian, Gatenotes


ฝากติดตามข่าวสารงานอีเว้นท์กับ Zipevent ในช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ตามนี้เลย 

  • Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย @Zipevent
  • Instagram: @Zipevent
  • Website: www.zipeventapp.com
  • Twitter: @Zipevent
  • Facebook: @Zipevent

Comments

comments