Trending Now

ช่วง Summer ประเทศไทย ไม่ได้ร้อนอย่างที่คิด แต่ร้อนเกินไปมากกกกก! ร้อนยิ่งกว่ามีไฟมาสุมอยู่ข้างๆ และสังเกตจากปีที่ผ่านมา เดาได้เลยว่าปีหน้าจะต้องร้อนกว่านี้อีก อยู่บ้านเปิดแอร์ก็เปลืองไฟ จะหนีไปห้างก็เปลืองเงิน แถมยังคนเยอะ วันนี้เราจึงรวบรวมไอเดีย แต่งบ้านยังไงให้เย็น ด้วยธรรมชาติ แบบไม่ง้อแอร์ และไม่เปลืองไฟมาให้ทุกคนได้ลิสต์ไว้กัน!

1. ใช้สีโทนเย็น

วิธีเบสิกที่ช่วยให้บ้านเย็นลง คือโทนสีของบ้าน ดังนั้น สีฟ้า หรือเขียวอ่อน จะตอบโจทย์ได้อย่างดี หรือถ้าใครที่ชอบความรู้สึกที่สบาย ผ่อนคลาย ให้ใช้สีน้ำตาล หรือสีเอิร์ธโทน ทั้งนี้การใช้สีอ่อนๆ สว่างๆ อย่างเช่นสีขาวและสีครีม นอกจากจะช่วยให้เย็นขึ้นแล้ว ยังช่วยประหยัดไฟฟ้าได้ด้วย เพราะเป็นสีที่ช่วยสะท้อนแสงได้ดี

2.กันสาดบังแดด หรือระแนง

หนึ่งสาเหตุสำคัญที่ทำให้บ้านร้อนระอุ คือแสงแดดที่ส่องเข้าบ้านโดยตรง ซึ่งหนทางที่ทำให้เราหลบเลี่ยงบ้านจากแสงแดดได้ คือการติดกันสาดเลยออกมาจากตัวบ้านไว้ โดยควรติดใน ทิศที่มักจะมีแสงส่องเข้า อย่างบริเวณทิศตะวันตก ทิศตะวันออก และทิศใต้ นอกจากนี้ กันสาดยังช่วยกันฝนสาด ได้อีกด้วย และถ้าใครเน้นความสวยงามของบ้าน อีกหนึ่งวิธีที่ขอแนะนำ คือการติดตั้งไม้ระแนงบังแสง สามารถช่วยบังได้ถึง 50 เปอร์เซ็นต์!

3. ปลูกเถาไม้เลื้อย หรือต้นไม้ให้ร่มเงา

อย่างที่รู้กันดีว่า ต้นไม้มีข้อดีคือให้ร่มเงา ช่วยบดบังสงแดด และยังช่วยฟอกอากาศให้บริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความสดชื่น ดังนั้นหากเราปลูกต้นไม้ไว้รอบบ้านจะยิ่งช่วยให้บ้านเราเย็นขึ้นได้ โดยการปลูก ต้นไม้ที่สูงสักประมาณ 12 เมตร มาปลูกไว้ทางทิศใต้ และนำต้นไม้สูง 18 เมตรมาปลูกไว้ทางทิศตะวันตก จะช่วยบดบังเเสงได้อย่างดี ทั้งยังช่วยให้เครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ทำงานหนัก เพราะอุณหภูมิในบ้านลดลงนั่นเอง

และถ้าอยากตกแต่งระแนงไม้ พร้อมกับลดอุณหภูมิในบ้านได้ด้วย แนะนำให้ปลูกไม้เลื้อย ก็จะยิ่งช่วยบดบังเเสงแดดได้มากกว่ามีเพียงระแนงเฉยๆ

4. เปิดทางลมเข้าบ้าน

หากเราให้สถาปนิกออกแบบบ้าน เชื่อได้เลยว่าเขาต้องออกแบบที่เปิดช่องทางลมไว้ให้อยู่แล้ว แต่เป็นพวกเราเองนี่แหละ ที่ชอบวางเฟอร์นิเจอร์แบบตามใจฉัน จนไปบดบังช่องทางลม ทำให้ไม่มีอากาศถ่ายเทในบ้าน ดังนั้นไม่ควรจัดเฟอร์นิเจอร์ให้ขวางทางประตูหน้าต่าง ควรจัดให้ชิดผนัง เพราะจะช่วยให้บ้านดูกว้างขึ้น จะได้เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก และดันอากาศร้อนที่อยู่ภายในบ้านให้ลอยตัวสูงและไหลออกไปได้

5. ใช้วัสดุจากธรรมชาติ กระเบื้องดินเผา

การใช้วัสดุธรรมชาติเช่นไม้ หรือหินปูนมาใช้ปลูกสร้าง ทั้ง โครงสร้าง เสา คาน เพดาน ผนังและพื้น จะทำให้บ้านไม่ดูดซับความร้อน ความร้อนจึงไหลออกได้ง่าย ซึ่งถ้าเทียบกับวัสดุก่อสร้างอื่นอย่างคอนกรีต จะเห็นได้ชัดเลยว่า คอนกรีตดูดความร้อนได้ยาวนานกว่า และการใช้หลังคาดินเผา ก็จะยิ่งช่วยสะท้อนความร้อนได้ดี ยิ่งนำกระเบื้องนั้นมาทาสีกันความร้อน หรือสีสว่างจะยิ่งช่วยลดความร้อนได้มากขึ้น ทั้งยังประหยัดพลังงานได้อีกด้วย

6. ติดพัดลมเพดาน

พัดลมเพดานจะช่วยดูดเอาความร้อนจากพื้นให้ลอยตัวสูงขึ้นได้ไวขึ้น ทำให้อากาศเย็นจากภายนอกไหลเข้ามาแทนที่

7. เลี่ยงการปูพรม

พรมคือเจ้าตัวการสำคัญที่กักเก็บความร้อนเอาไว้ สังเกตจากต่างประเทศที่เป็นประเทศหนาว เขามักจะปูพรมไว้ ดังนั้น ด้วยสภาพอากาศในประเทศเราไม่อำนวยให้เราปูพรม เพราะจะช่วยให้อุณหภูมิในบ้านอุ่นขึ้นมาก จากที่ร้อนอยู่แล้ว ยิ่งอบเข้าไปใหญ่ ดังนั้นถ้าอยากให้บ้านเราเย็น เราควรเลือกปูด้วยไม้หรือกระเบื้องจะทำให้บ้านเย็นกว่า เพราะนอกจากจะไม่อมความร้อน ยังช่วยกักความเย็น ทำให้เท้าเราเย็นขึ้นได้

8.เลือกใช้หลอดไฟ LED

หลอดแอลอีดี (LED) เพราะหลอดไฟชนิดนี้ ใช้พลังงานน้อยกว่าหลอดไส้ธรรมดาถึง 90% ทั้งยังปล่อยพลังงานความร้อนออกมาน้อยกว่า แถมคุณภาพของแสงสว่างก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานอีกด้วย

9.ความเย็นจากแหล่งน้ำ

มวลความเย็นของน้ำเมื่อสัมผัสกับลมจะสามารถนำความเย็นเข้าสู่ตัวบ้านได้ ดังนั้นเราควรทำแหล่งน้ำไว้รอบๆ บ้าน ไม่ว่าจะเป็น บ่อปลา สระปลา สระว่ายน้ำ แหล่งน้ำเหล่านี้จะสามารถช่วยลดอุณหภูมิความร้อนที่ติดอยู่กับผนังบ้านได้ แถมยังช่วยเพิ่มความสวยงามให้รอบๆ บ้านด้วย

และอีกหนึ่งตัวเลือกสุดท้ายสำหรับการแต่งบ้านให้เย็น และประหยัดพลังงาน คือการคุยกับผู้รู้โดยตรง ซึ่งมีให้เลือกชม เลือกปรึกษามากมาย ใน งานสถาปนิก’62 “กรีน อยู่ ดี : Living Green” โครงการนิทรรศการผลงานสถาปนิกสมาชิกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA MEMBER 2019) ระหว่างวันอังคารที่ 30 เมษายน – วันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคม 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี


สามารถค้นหางานอีเว้นท์ที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่

Line: @Zipevent (อย่าลืมเติม @ ข้างหน้าด้วยนะคะ) หรือจิ้มไปที่ลิงก์นี้ได้เลย https://line.me/R/ti/p/%40khj7199c

Instagram: www.instagram.com/zipevent

Website: www.zipeventapp.com

Twitter: www.twitter.com/zipeventapp

Facebook: www.facebook.com/zipevent

Comments

comments

Author