Trending Now

“เราว่าทุกคนมี How to อยู่ในหัวอยู่แล้วอ่ะ ว่าจะต้องทำไงกับความเศร้า แต่แค่เรายังไม่ทำมันแค่นั้นเอง” 

         เออจริงว่ะ เสียงในหัวของเราตอบรับขึ้นมาแบบอัตโนมัติ เมื่อคุณพิม (เจ้าของเพจ 1991) พูดประโยคนี้จบลง ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าคนเราทุกคนต่างมีวิธีการที่จะจัดการกับความเศร้าอยู่ในตัวของเราอยู่แล้ว แต่ก็นั่นแหละเหมือนที่คุณพิมบอก บางครั้งมันอาจจะยังไม่ถึงเวลา หรือก็แค่ยังไม่พร้อมที่จะจัดการกับมันสักที          พิม พิมพรรณ หรือเจ้าของเพจ 1991 ที่กำลังจะมีงานเปิดตัวหนังสือ “1991 ระหว่างเราสูญหาย” ในวันที่ 4 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ ออกตัวก่อนเลยว่าจริงๆ แล้วเราก็เป็นหนึ่งในหกแสนคนที่ได้กดไลก์เพจและติดตามผลงานของคุณพิมแบบเงียบๆ มาสักพักนึงแล้ว วันนี้เลยถือโอกาสพูดคุยกับคุณพิมถึงที่มาที่ไปของมันสักหน่อย

‘จากสิ่งที่ชอบ กลายมาเป็นสิ่งที่ใช่’

แนะนำตัว

          สวัสดีค่ะ “พิม” เจ้าของและแอดมินเพจ 1991 ตอนนี้เป็นคอลัมนิสต์ของสำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง และก็มีผลงานเป็นหนังสือเรื่องสั้น “1991 ระหว่างเราสูญหาย”

ก่อนจะมาเป็น 1991 

          จริงๆ เริ่มต้นจากเราเป็นคนชอบถ่ายรูปมาก่อน แต่ถ่ายด้วยโทรศัพท์มือถือธรรมดานะ ไม่ได้เล่นกล้องอะไรจริงจัง ชอบถ่ายพวกรูปที่เก็บบรรยากาศ พอหลังจากนั้นก็รู้สึกว่าเป็นคนชอบบรรยายพวกความรู้สึกด้วย พวก Status ก็เลยคิดว่าถ้ามันมีพื้นที่หนึ่งที่ได้นำทั้งภาพที่เราถ่ายกับข้อความที่เรารู้สึกมาใส่รวมกันได้มันก็น่าจะดีจึงสร้างเพจขึ้นมา           แต่ก่อนเริ่มต้นเป็น 1991 มันไม่ได้ชื่อเพจนี้ ตอนที่เราเริ่มทำ เราคิดอีกชื่อหนึ่งมาก่อน มีแอดมินประมาณ 3 คน เป็นศูนย์รวมที่เกี่ยวกับคนที่คิดเหมือนกัน ชอบเหมือนกัน มารวมตัวกัน แต่หลังจากนั้นพอทำได้สักระยะแล้วรู้สึกว่าอีก 2 คนเขาไม่ค่อยมีปฎิสัมพันธ์กับเพจสักเท่าไหร่ เราก็เลยเออ…ขอมาทำเองคนเดียวดีกว่า ก็เลยเปลี่ยนชื่อเพจเป็น 1991 

ตอนที่ทำเพจเก่าเขียนสไตล์ไหนมาก่อน

          สไตล์คล้ายๆ 1991 เลย แต่ว่าตอนทำกัน 3 คน มันเหมือนกับว่าเรายังไม่เป็นตัวเอง เพราะว่าเราต้องคอยบาลานซ์กับอีก 2 คนด้วย ทิศทางมันเลยค่อนข้างจะสะเปะสะปะ แบบคนนี้สไตล์นึง คนนี้อีกแบบนึง เราก็ทำอีกโทนนึง มันก็เลยหาความลงตัวไม่ได้เท่าไหร่ในช่วงแรกๆ แต่พอออกมาทำคนเดียวก็ดีขึ้น

แรงบันดาลใจในการเขียนในแต่ละเรื่อง

         ส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกส่วนตัว เรื่องที่เราเจอ เหตุการณ์ที่เราเจอ สิ่งที่เราเจอมาจากคนอื่นๆ ก็หยิบมาเขียนบ้าง แต่อาจจะไม่มากเท่าไหร่

จำคอนเทนต์แรกที่เขียนได้มั๊ย

          จำได้ !

แล้วเขียนเกี่ยวกับอะไร 

          ภาพแรกกับคอนเทนต์แรกที่ลงไป เราเขียนเกี่ยวกับความรู้สึกของการตกหลุมรักใครสักคน เราสื่อความหมายประมาณว่าชีวิตคนเรามันสามารถเจอใครก็ได้นะ จะตกหลุมรักกับใครก็ได้ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ 

คุณพิมกับเพจ 1991 ต่างหรือเป็นคนคนเดียวกัน

          สำหรับพิม พิมมองว่าเพจเป็นแค่มิติหนึ่งในตัวพิมมากกว่า มันจะคล้ายๆ กับเค้กสักปอนด์ที่เราไม่ได้บอกว่ามันเป็นเค้กวานิลลาหมดทั้งปอนด์ แต่มันอาจจะมีดาร์กช็อกโกแลตอยู่ด้วย ซึ่งดาร์กช็อกโกแลตมันก็เป็นส่วนนึงของเพจเรา ก็คือถ้าจะบอกว่าทั้งหมดของชีวิตเราก็น่าจะยังไม่ใช่ แต่มันคืออีกมิติที่เป็นดาร์กช็อกโกแลตนั่นแหละ

รู้มาว่าทำอยู่ 2 เพจ ‘พิมประภา’ กับ ‘1991’ ต่างหรือเหมือนกันยังไง 

          คือเราทำ ‘1991’ มาก่อน และเราก็รู้สึกว่า เราอยากเปิดอีกเพจหนึ่งที่โทนมันจะต่างกัน ซึ่งตอนแรกเราตั้งใจให้เพจ ‘พิมประภา’ ออกมาเป็นโทนที่เหมือนกับหนังสั้น เพราะว่าเราได้แรงบันดาลใจมาจากการที่เราไปดูนิทรรศการของพี่เต๋อ นวพล ที่ Bangkok City City Gallery เราก็เลยรู้สึกว่าเราชอบ มีเสน่ห์ดี มันเป็นการอ่านไดอะล็อกที่จบแบบเร็วมากและมีครบเลย มีทั้งตัวละคร มีสถานที่ มีเวลา ทุกอย่างมันจบในหน้าๆ นึง แต่หลังจากนั้นคือพอไปดูปุ๊ป แล้วไม่ใช่ว่ากลับมาทำเพจเลยนะ เราเว้นช่วงนึงก่อนแล้วค่อยทำ คือถ้าแบบใครที่ติดตามในเพจ ‘พิมประภา’ ช่วงแรกๆ ก็จะเห็นข้อความในสไตล์ที่คล้ายๆ หนังสั้นนิดนึง แต่ช่วงหลังไม่ค่อยมีเวลาเขียน เลยเว้นๆ ไป อาจจะไม่ค่อยได้เห็นแล้ว (ฮา)

นี่คือเหงา…นี่แหละเหงา

ส่วนใหญ่จะที่เขียนเหมือนจะเป็นพวกความเหงา ความเศร้า แล้วจริงๆ โฟกัสไปที่จุดไหน

          จริงๆ ถ้าจะโฟกัสก็คงเป็นความเศร้า กับความคิดถึงนะ ที่จะเขียนบ่อย เพราะเรารู้สึกว่าเรื่องพวกนี้อยู่กับเราตลอด มันอยู่กับเราในทุกๆ วัน มันก็เลยหยิบมาเขียนได้ง่ายหน่อย อาจจะไม่ได้เหงาหรือเศร้ามาก แต่พูดแทนคนเหงา คนเศร้าทุกๆ คนมากกว่า

เห็นชอบแชร์เพลง แล้วก็มีพวก Quotes แสดงว่าเป็นคนชอบฟังเพลง

          ชอบมาก…ส่วนใหญ่เวลาก็จะหมดไปกับการฟังเพลงนะ 55555 เรารู้สึกว่าการเขียนบางครั้งก็ได้แรงบันดาลใจจากการฟังเพลงเหมือนกัน

บอกชื่อเพลงที่ฟังแล้วเหงาสุดๆ หน่อย สัก 3 เพลง

          เราเป็นคนที่เวลาฟังเพลง ถ้าเราชอบเพลงนั้น ก็จะฟังซ้ำๆ วนๆ อยู่อย่างนั้นจนกว่าเราจะเบื่อ แล้วก็จะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ วนลูปอยู่แบบนั้น แต่เราก็มีเพลงที่อยู่ในใจเราเสมอและไม่เคยเลิกชอบเลยก็คือ ยินดีที่ได้พบเธอ – Stoodio / ช่วงเวลา – Zweed n’ Roll / ปลอบ – Moving and Cut           แต่ตรงๆ คือสามเพลงนี้มันก็ไม่ได้เหงาอะไรขนาดนั้นหรอก แต่เราว่ามันเป็น 3 เพลงที่พูดถึงบริบทของความสัมพันธ์ได้ครบ ถ้าเรียงลำดับทามไลน์ก็คือ ‘ยินดีที่ได้พบเธอ’ คือการที่ได้พบคนใหม่ๆ ส่วนอีกพาร์ทนึงคือ ‘ช่วงเวลา’ ก็คือความสัมพันธ์ที่เริ่มระหองระแหงละ ส่วนเพลง ‘ปลอบ’ ก็คือปลอบอ่ะ เท่ากับว่าความสัมพันธ์มันจบไปแล้ว มันก็คือการปลอบใจเรา

แล้วการเขียนเรื่องสั้นกับเพจต่างกันมั้ย

          ต่างกันมาก อันนี้คือความยากและความท้าทายอย่างนึง สารภาพตรงๆ ว่าไม่เคยเขียนเรื่องสั้นเลย และก็ไม่เคยอ่านด้วย เราไม่ใช่นักอ่านที่ดีเท่าไหร่ ไม่ใช่หนอนหนังสือที่จะอ่านหนังสือทุกประเภท แต่โจทย์มันมาคือให้เราเขียนเรื่องสั้นที่แตกต่างจากในเพจ แต่ว่ามันก็อาจจะมีบางประโยคที่เราดึงมาจากในเพจบ้าง แต่น้อยมาก คือทั้งหมดเราเขียนขึ้นมาใหม่หมดเลย เราต้องใช้จินตนาการ ต้องมีไดอะล็อก ต้องใช้ความรู้สึกร่วมกับมันมากๆ มันก็เลยค่อนข้างยากนิดนึง

ฝากถึงคนที่เหงา หรือคนที่กำลังรู้สึกแบบในเพจ 1991 หน่อย อยากพูดอะไรกับเขา

          คือตั้งแต่เราทำเพจมา ก็จะมีคนอินบ็อกซ์มาหาเราเยอะมาก คือส่วนใหญ่ก็จะมาปรึกษาปัญหาความรัก ซึ่งเขาก็คงคิดว่าเราช่วยได้ แต่จริงๆ เราอาจจะช่วยไม่ได้ก็ได้ เราว่าทุกคนมี How to อยู่ในหัวอยู่แล้วว่าจะต้องทำไง           เราเชื่อในกฎของแรงดึงดูด แล้วก็กฎของแรงผลักออก ในเมื่อเราอยู่ในที่ที่ไหน แล้วมันเป็นที่ของเรา เราจะอยู่ตรงนั้นได้ดี อีกอย่างนึงคือถ้าที่ตรงนั้นมันไม่ใช่ ไม่ว่าจะนานแค่ไหนยังไงก็ต้องไป เราเชื่อในเรื่องนี้นะ ทฤษฎีนี้มันอยู่กับทุกคน และมันเป็นความจริง ทุกคนมันมี How to ที่จะผ่านความเศร้าอยู่แล้ว แต่แค่ยังไม่อยากจะทำ ซึ่งกฏของแรงดึงดูดและผลักออกมันจะทำหน้าที่และก็ให้เราเดินออกไปเอง

นอกจากหนังสือ ถ้ามีโอกาสอยากลองทำอะไรอีกมั้ย

          โปรเจกต์ต่อไป…อยากเป็นนักร้อง (ฮา) เราชอบร้องเพลง แต่ก็ไม่ได้จริงจัง นอกจากหนังสือจริงๆ ก็คิดไม่ออกเหมือนกัน คงเป็นนักร้องมั้ง แต่อาจจะแบบเล่นๆ เพราะเราก็เล่นไม่ค่อยเป็น ถ้าจะทำจริงๆ ก็คงหาคนมาเล่นให้

ฝากหนังสือ 1991 ระหว่างเราสูญหาย คนอ่านจะได้อะไรกลับไปบ้าง

          หนังสือเล่มนี้เราก็บอกไม่ได้นะ ว่าถ้ามีคนมาอ่านแล้วเราจะช่วยในการฉุดขึ้น หรือว่าทำให้เขาแย่ลง แต่สิ่งที่เราแน่ใจก็คือเขาจะได้เพื่อนคนนึงที่รู้สึกเหมือนกันกับเขา ในมิติของความเศร้ามันมีความหลากหลายมาก และถ้าเขาอ่านใน 15 เรื่องนี้ มันจะต้องมีสักเรื่องนึงที่ตรงกับชีวิตเขา แล้วเขาก็จะรู้ว่าไม่ใช่เขาคนเดียวที่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้

เรื่อง : ปิ่นชนก รักษาพราหมณ์

ภาพ : ดารารัตน์ เรืองศรี

ขอขอบคุณสถานที่ YELO House

สามารถติดตามบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.zipeventapp.com/blog

Comments

comments

Author

Nothing really goes away